Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ครม.อนุมัติวงเงิน 4,508 ล้านบาท ก่อสร้าง “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7” ส่วนต่อขยาย เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา รองรับการจราจรสนามบินในปี 2568

อนุมัติแล้ว สร้างต่อได้! ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เชื่อมอู่ตะเภา

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา วงเงินรวม 4,508 ล้านบาท ระยะทางรวม 1.92 กิโลเมตร

เบื้องต้น ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงานตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน  108 ล้านบาท รวมถึงเงินงบประมาณสมทบกับแหล่งเงินกู้ โดยอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณสมทบให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังทำความตกลงกับแหล่งเงินกู้

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภานี้ มีวัตถุประสงค์หลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

1. เพื่อรองรับการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต บริเวณสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งสนามบินอู่ตะเภา จะเปิดให้บริการเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ในปี 2568 โดยจะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ถัดจากด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอู่ตะเภาเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินอู่ตะเภาโดยตรง

2. ช่วยลดระยะทางสู่สนามบินอู่ตะเภาจากเดิม 5 กิโลเมตร เหลือ 1.92 กิโลเมตร  โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพิ่ม รวมถึงทางเลี้ยวและทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับถนนสุขุมวิท

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อจะเปิดให้บริการในปี 2568 จะมีปริมาณจราจรประมาณ 22,000 คันต่อวัน และเพิ่มเป็น 41,300 คันต่อวันในปี 2597 หรือปีที่ 30 ของโครงการ

สำหรับมูลค่าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภารวม 4,508 ล้านบาท จะแบ่งเป็น

1. ค่าก่อสร้าง

2. ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน

3. เงินเผื่อเหลือเผื่อขาด

รวมงบประมาณ 4,400 ล้านบาท ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565  และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 108 ล้านบาท ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณระยะเวลาก่อสร้างระหว่างปี 2565-2567 

โครงการนี้ แม้จะไม่มีผลตอบแทนทางการเงิน เพราะไม่มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในบริเวณส่วนต่อขยาย แต่เมื่อวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการ พบว่า มีค่าร้อยละ 14.79 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดที่ร้อยละ 12 แสดงว่าโครงการฯมีความเหมาะสมที่จะลงทุน

Exit mobile version