Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

10 วิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน หมอแนะออกกำลังกาย เลือกกินอาหารให้เหมาะสม เลี่ยงกินข้าว แป้ง ที่ขัดสี ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน ทำให้เสียชีวิต

วิธีดูและสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานอาจคิดว่าการไม่กินน้ำตาล หรือเติมน้ำตาลในการปรุงอาหาร สามารถลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับในแต่ละวันลงได้ และเพียงพอแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าจริง ๆ แล้ว การกินข้าว แป้ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการขัดสีนั้นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน และยังมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ แทรกซ้อนตามมา

ซึ่ง มีค่า นิวส์ ทราบจากนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการขัดสี จะมีใยอาหารน้อยแต่น้ำตาลสูง สามารถย่อยและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็ว โดยน้ำตาลในเลือดไปทำปฏิกิริยากับโปรตีน ทำให้โปรตีนเกิดการผิดรูป และก่อให้เกิดสารที่ชื่อว่า AGEs (Advanced glycation end products) ซึ่งเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะนั้นให้ทำงานน้อยลง จนเกิดโรคแทรกซ้อน ในผู้ป่วยเบาหวาน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการกินข้าว แป้ง ที่ผ่านกระบวนการขัดสี เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และควรกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกชนิดที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล เป็นต้น เพราะนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรต ยังมีใยอาหารสูง รวมถึงมีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำกว่าข้าวขาว ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยยับยั้งการเกิด AGEs ได้

นอกจากนี้ ยังแนะให้ผู้ป่วยเบาหวานระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหาร รวมถึงควบคุมปริมาณให้เหมาะสม และออกกำลังกาย ดังนี้

  1. กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ วันละ 3 มื้อ ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกมื้อทุกวัน ไม่กินจุบจิบระหว่างมื้อ
  2. ควรกินผักทุกมื้อ ทั้งผักสด หรือผักต้ม คุมปริมาณการบริโภคผักที่มีแป้งสูง เช่น ฟักทอง แครอท มันแกว เมล็ดถั่วลันเตา เป็นต้น
  3. เลี่ยงการบริโภคน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหวาน ผลไม้เชื่อมแช่อิ่ม ผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ทุเรียน มะขามหวาน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด น้อยหน่า แตงโม ขนุน เป็นต้น
  4. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ได้แก่ ไขมัน สัตว์ เนย มันหมู เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ หอยนางรม ไข่แดง ครีม กะทิ
  5. เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารจากทอดเป็นตุ๋น ต้ม นึ่ง แทน
  6. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ หรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือน้อยที่สุด
  7. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  8. ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ให้ได้สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  9. งดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
  10. พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อตรวจติดตามน้ำตาลในเลือด ใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับหรือลดขนาดยาตามความรู้สึก รวมถึงห้ามซื้อยาชุดมากินเอง ในขณะที่การใช้สมุนไพรควรพิจารณาร่วมกัน กับแพทย์ผู้รักษา

ที่มา: นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565
อ่านเพิ่มเติม >> https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/220665/?fbclid=IwAR19ISbKF_rqjEtcto4Wbm6JblPUInXXtOIFPKUO2EdAjSRbcpW_JY_0Kyg

Exit mobile version