ยาถือว่าเป็นอีก 1 สิ่งสำคัญ หรือปัจจัยที่ 5 เลยก็ว่าได้ ที่จำเป็นต้องมี และห้ามขาด เพราะว่าเราไม่มีทางรู้ได้เลยครับว่า โรค หรืออาการแต่ละอย่างจะมาตอนไหน เช่น วันนี้อากาศเปลี่ยน ฝนตก ต้องตากฝนกลับบ้าน ทำให้มีอาการน้ำมูกไหล มีไข้ เหมือนจะเป็นหวัดไม่สบาย หรือไปกินส้มตำกับแก๊งเพื่อนมา แล้วท้องเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด ยิ่งถ้ามีอาการตอนกลางคืนอีก ร้านขายยาปิด โรงพยาบาลอยู่ไกล ลำบากแน่นอนครับ ดังนั้น ถ้าหากมียาพื้นฐานที่ช่วยในการบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ติดไว้ที่บ้าน ย่อมดีกว่าแน่นอน มีค่า นิวส์ เลยไปรวบรวมข้อมูลยาที่ต้องมีติดไว้ที่บ้าน มาฝากครับ
- ยาแก้ไข้
- ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ชนิดเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ โดยกินไม่เกินวันละ 6 เม็ด และกินติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน เช่น พาราแคป ซาร่า และไทลินอล เป็นต้น
- ยาแก้ปวด
- ยาไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen) ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล ขนาด 400 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดหรือ 1 แคปซูล ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 3 มื้อ หากไม่มีอาการสามารถหยุดกินยาได้ทันที และกินไม่เกินวันละ 6 เม็ด เช่น โกเฟ่น และนิวโรเฟ่น เป็นต้น
- ยาแก้ไอ
- ไอแห้ง หรือไอแบบไม่มีเสมหะ: ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) ชนิดเม็ด ขนาด 30 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง กินไม่เกินวันละ 4 เม็ด (เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ไม่ควรรับประทาน)
- ไอแบบมีเสมหะ: ยาคาร์โบซิสเตอีน (carbocysteine) ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหาร 3 มื้อ หากไม่มีอาการสามารถหยุดกินยาได้ทันที เช่น โซแมกส์
- ยาแก้ท้องเสีย
- เกลือแร่สำหรับท้องเสีย (oral dehydration salt) ชนิดผง ละลายเกลือแร่ 1 ซอง ในน้ำปริมาณ 250 มิลลิลิตร หรือน้ำ 1 แก้ว ค่อย ๆ จิบจนหมดแก้ว โดยไม่ควรเก็บเกลือแร่ที่ละลายน้ำแล้วไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง เช่น ออรีด้า
- ยาผงถ่าน (carbon charcoal) ชนิดเม็ด กินครั้งละ 2-3 เม็ด กินซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมงจนอาการดีขึ้น และไม่ควรกินเกินวันละ 16 เม็ด เช่น เกร๊ทเตอร์ คาร์บอน
- ยาแก้แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น แพ้อาหาร
- ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ขนาด 4 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 6 เม็ด และยานี้กินแล้วทำให้ง่วงนอน งดการขับขี่พาหนะ หรือทำงานร่วมกับเครื่องจักร
- ยาเซ็ตเทอริซีน (Cetirizine) ขนาด 10 มิลลิกรัม กินวันละ 1 เม็ด เช่น ซีร์เทค อัลเลอร์เร็สท์
- ยาทำแผล
- น้ำเกลือ สำหรับล้างแผล
- ยาโพวิโดน ไอโอดีน สำหรับล้างแผล
- พลาสเตอร์แปะแผล
**อย่าลืมตรวจสอบวันหมดอายุของยาก่อนการใช้ ซึ่งจะมีระบุไว้ในฉลาก หรือข้างซอง
เรียบเรียงโดย เภสัชกร ณัฐพล พานทองคำ
ที่มา: MIMS Thailand และร้านขายยาฟาสซิโน