Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

9 อาหารแนะนำ สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี แนะกินยาอย่างเดียวอาจไม่พอ จึงต้องเลือกกินให้เหมาะสมด้วย

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทย จะมีการรณรงค์เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี และเอดส์เป็นอย่างมาก รวมถึงการเข้าถึงยาต้านไวรัสง่ายกว่าสมัยก่อน แต่ยอดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการติดเชื้อเอชไอวี มีผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเป็นอย่างมาก และอาจทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งการได้รับยาต้านไวรัสอย่างเดียวจึงยังอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วย ทั้งออกกำลังกาย เลือกกินอาหาร ทำให้ มีค่า นิวส์ เลยไปรวบรวมสาระสำคัญในการเลือกกินอาหารให้เหมาะสม และปลอดภัยมาไว้ที่นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงซัพพอร์ตให้กับสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

อาหาร “แนะนำ” สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  1. เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะมีส่วนช่วยปกป้องระบบภูมิคุ้มกัน
  2. รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ และคุณภาพดี เพื่อให้ร่างกายใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน, เนื้อไก่, ปลา, ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
  3. เลือกกลุ่มข้าวแป้ง-ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตซึ่งจะให้พลังงานแก่ร่างกายเป็นหลัก อุดมไปด้วยวิตามินบี และใยอาหาร ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิดปกติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากเอชไอวี
  4. จำกัดปริมาณน้ำตาลและเกลือ เพราะเชื้อไวรัสและยาที่ได้รับส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น หากได้รับปริมาณน้ำตาลและเกลือมากเกินไป โดยปริมาณน้ำตาล ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และปริมาณเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  5. เลือกรับประทานไขมันที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่ ถั่ว น้ำมันจากพืช และอะโวคาโด
  6. ควรได้รับปริมาณอาหารที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย โดยที่คาร์โบไฮเดรตประมาณ 45-65% โปรตีน 10-35% และไขมัน 20-35% ส่วนใยอาหารควรได้รับ 14 กรัม ต่อความต้องการพลังงาน 1,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
  7. หลีกเลี่ยงการรับประทานกลุ่มใยอาหารต่ำ ไขมันสูง อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของเนื้อเยื่อไขมันที่ผิดปกติ ความดื้อต่ออินซูลิน และความอ้วนได้
  8. สำหรับผู้ป่วยเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง แนะนำให้ควบคุมปริมาณไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
  9. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากอาการท้องร่วงหรือคลื่นไส้อาเจียน
  10. เน้นความสะอาดและปลอดภัยของอาหาร (Food safety) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำมาก เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อผู้ป่วยได้รับอาหารที่ไม่สะอาด หรือมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคอาหารเป็นพิษมากกว่าคนทั่วไป

อาหาร “ไม่แนะนำ” สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

  1. อาหารหมักดองทุกชนิด เช่น ปลาร้า ปูเค็มดอง ผลไม้ดอง กะปิ รวมถึงเหล้า เบียร์ และไวน์
  2. เนื้อสัตว์ทุกชนิด ยกเว้น หมู ปลาน้ำจืดมีเกล็ด หรือปลาที่เลี้ยงตามธรรมชาติในแหล่งน้ำสะอาด
  3. อาหารที่มีการแต่งสี กลิ่น รส ด้วยสารเคมี สารกันบูด และผงชูรส
  4. อาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน เช่น ของเผ็ดจัด ของหวานจัด ของมันมาก
  5. อาหารที่ขึ้นราง่าย เช่น ขนมปัง ถั่วลิสงเก่าเมล็ดลีบ
  6. หน่อไม้ ฟัก แตง ผักตำลึง และชะอมหลังฝนชุก
  7. ผลไม้บางชนิดไม่ควรกินมาก เช่น ขนุน และทุเรียน
  8. ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเอดส์ เอชไอวี บำบัดได้

อาหารสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
Exit mobile version