Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

งดเหล้าตลอดเข้าพรรษา ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มความสุขในครอบครัว

14 กรกฎาคม ปีนี้ เป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งยังจัดเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นการงดเหล้าแต่ยังไม่รู้จะลดแบบไหน มีค่า นิวส์ หาข้อมูลมาให้ครับ ทำง่ายมากๆ ด้วยวิธี 1 ลด 3 เพิ่ม

งดเหล้าเข้าพรรษา

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันเข้าพรรษาของทุกปี ถือเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนคนไทย เนื่องจากการลด ละ เลิก
ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสังสรรค์ ไม่ไปในสถานที่แออัด จะเป็นการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรคโควิด 19 ทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ยังเสริมสร้างความผูกพันในครอบครัวให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นให้เกิดการลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรับรู้กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ถูกบรรจุอยู่ในกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดกรอบนโยบายเพื่อสร้างสังคมปลอดภัยจากปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (SAFER) ซึ่งเป็นมาตรการหลักในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดยแนะนำให้ประชาชน ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง โดยใช้วิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” ดังนี้

  1. ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. เพิ่มเงินในกระเป๋า
  3. เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย
  4. เพิ่มความสุขในครอบครัว

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ในฐานะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และในระดับจังหวัดได้มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฯ ได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ในการร่วมกันป้องกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงได้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ซึ่งในช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2565 นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 878 อำเภอ โดยจัดกิจกรรมให้แก่ประชาชนตามบริบทของพื้นที่ เป็นแบบอย่างที่ดีในการลด ละ เลิกเหล้า และรายงานผลการดำเนินงานกลับมายังกรมการปกครองต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีวัตถุประสงค์หลักในการลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล มีการจัดบริการประเมินความเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบำบัดรักษาให้แก่ประชาชน หรือผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง และยังเพิ่มความสะดวกในการประเมินความเสี่ยงผ่านเว็บไซต์ “ติดเหล้ายัง-ดอทคอม” หรือสามารถโทรปรึกษาได้ที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สายด่วนเลิกเหล้า 1413

นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า” ผ่าน Application Smart อสม. หรือลงนามผ่านทางออนไลน์ โดยตั้งเป้าหมายให้ อสม. เชิญชวนคนในครอบครัวและคนรอบข้าง อย่างน้อย 3 คน ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างช่วงเข้าพรรษา และจะขยายผลต่อเนื่อง ไปสู่การบำบัดรักษาและสร้างกำลังใจหลังกลับสู่ชุมชน เพื่อการตัดสินใจเลิกดื่มถาวร

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้ริเริ่มโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” มาตั้งแต่ปี 2546 และยังคงมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานที่ผ่านถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีประชาชนเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภายใต้แนวคิด “งดเหล้าเข้าพรรษา มหามงคล “ซุปเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้า” ลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ อบายมุข เพื่อสร้างสุขให้สังคม ตนเอง ครอบครัว” ซึ่งการรณรงค์เน้นที่ความสัมพันธ์ในครอบครัว การเลิกเหล้าเพื่อความสุขของครอบครัว ซึ่งปีนี้มีการดำเนินการสำคัญ คือการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการสนับสนุนสื่อการรณรงค์ต่างๆ ให้กับพื้นที่อำเภอ 878 แห่ง โดยให้ความสำคัญในการสกัดนักดื่มหน้าใหม่ และกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มการดื่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ดื่มประจำ กลุ่มผู้ดื่มหนัก และกลุ่มเยาวชน เป็นต้น

ที่มา: กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ

Exit mobile version