Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กัญชาในอาหาร ต้องระมัดระวังการใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง แนะมีกฎหมายแจ้งเตือน พร้อมมาตรการกำกับเพื่อควบคุมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับครับว่า มีข่าวไม่ดีเท่าไหร่กับการใช้กัญชา จนขณะนี้แม้ว่าจะมีการประกาศให้ใช้ได้อย่างเสรี แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องระมัดระวังการใช้ และการบริโภคกัญชาอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC และ CBD เพื่อความปลอดภัยของบุคคลเหล่านั้น และล่าสุด มีค่า นิวส์ ได้ข่าวมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย และการควบคุมเพื่อคุ้มครองบริโภคกัญชา จึงนำมาอัพเดท

กัญชาในอาหาร

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีข้อห่วงใยกัญชาเสรีทางการแพทย์ สุขภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจ อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่รู้ตัว ควรมีป้ายแจ้งเตือน “ร้านนี้ปลอดกัญชา” เพื่อเป็นสิทธิในการเลือกบริโภค ว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกบริโภคอาหารที่มี หรือไม่มีส่วนผสมของกัญชา แต่จำเป็นต้องได้รับทราบข้อมูลว่าอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ สัดส่วนมากน้อยเท่าไร

ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ร้านอาหารต้องจัดทำข้อมูลแจ้งเตือนลูกค้า ดังนี้

  1. มีข้อความแสดงว่าเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
  2. แสดงเมนูที่ใช้ใบกัญชาทั้งหมดพร้อมปริมาณที่ใช้ โดยทั้งนี้ยังมีข้อแนะนำการใช้ใบกัญชาในการปรุงประกอบอาหาร คือ อาหารทอดใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบต่อเมนู ประเภทผัด แกง ต้ม หรือผสมในเครื่องดื่ม ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบต่อเมนู

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ แสดงคำเตือน ดังนี้

  1. เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรรับประทาน
  2. สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน
  3. ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน
  4. หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที
  5. เมื่อรับประทานอาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
  6. ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรคด้วย

โดย นายแพทย์รุ่งเรือง ยังเน้นย้ำว่า ทั้งหมดเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเข้าร้านอาหารแล้วจะต้องได้รับข้อมูลว่าร้านนี้ใช้กัญชาทำอาหารหรือไม่ ใช้ในเมนูอะไร ส่วนผสมมากน้อยแค่ไหน ทำให้สามารถตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะบริโภคหรือไม่ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ออกสู่ตลาด ก่อนที่ อย.จะอนุมัติ ได้มีการตรวจสอบสูตรแล้วว่ามีส่วนผสมของกัญชาไม่เกินค่าที่กำหนดที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ไม่เกิดผลต่อระบบประสาทและสมอง โดยกำหนดสาร THC 1.6 มิลลิกรัม/แพ็ค และรับประทานสาร THC ได้ไม่เกิน 3.2 มิลลิกรัมต่อวัน และบนฉลากของผลิตภัณฑ์ต้องมีข้อมูลคำเตือนเช่นกัน

ที่มา: นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เมื่อ 30 มิถุนายน 2565

Exit mobile version