Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

เภสัชกรเตือน “กัญชา” ปลดล็อคแล้ว ยังต้องใช้อย่างระวัง พร้อมแนะร้านอาหารควรมีป้ายบอกลูกค้า และใส่ตามปริมาณที่แนะนำ คือ 1 ใบสดต่อ 1 จาน

เป็นที่ทราบดีว่า ประเทศไทย “ปลดล็อกกัญชา กัญชง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565” ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง สามารถปลูก รับประทาน และจำหน่ายได้อย่างเสรี ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) หรือสารที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก และยกเว้นสารสกัดจากเมล็ดกัญชง กัญชาที่ยังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งการปลดล็อคข้างต้น สร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งในแง่ของการใช้ประโยชน์ และข้อกังวลใจ เรื่องการนำไปใช้ในทางที่ผิดและไม่เหมาะสม

มีค่า นิวส์ จึงขอนำเสนอบทความของศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้คุยกับเภสัชกรพิสณฑ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำการใช้กัญชา กัญชงอย่างไรให้ปลอดภัย มาฝากทุกคนค่ะ

เภสัชกรพิสณฑ์ กล่าวว่า สารออกฤทธิ์ในพืชกัญชง กัญชา จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต ระบุไว้ว่า ในกัญชาพบสารออกฤทธิ์ 2 ตัว คือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabinoid (CBD) โดยสาร CBD เป็นสารออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางยา หรือในเชิงการรักษาซึ่งต้องใช้ในปริมาณมาก ในปัจจุบันไม่ได้จัดเป็นสารเสพติด ไม่มีการออกฤทธิ์ทางจิตประสาทมีประโยชน์ในการระงับปวด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ จึงนิยมนำมาใช้เป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหาร และยา ส่วน THC เป็นสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีผลต่อสมอง โดยสารออกฤทธิ์นี้จะใช้ในทางยาเท่านั้น

ส่วนข้อกังวลใจเรื่องอาหาร สามารถใส่กัญชาได้มากแค่ไหนนั้น เภสัชกรพิสณฑ์ ระบุว่า การนำกัญชา กัญชงมาปรุงอาหารไม่ควรหวังผลทางการรักษา ให้เน้นการปรุงเพื่อเติมแต่งรสชาติให้มีความหลากหลายเท่านั้น โดยร้านอาหาร ควรปฏิบัติ ดังนี้

1.การปรุงอาหารมักใช้ส่วนใบของกัญชา ซึ่งใบกัญชาหนึ่งใบมีสาร THC ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม นับว่า มีปริมาณน้อย ข้อแนะนำจากประกาศกรมอนามัย เรื่องการใช้ใบกัญชง กัญชามาใช้ในการประกอบอาหาร อาหารสามารถใส่ใบกัญชาสดได้ 1 ใบต่อจาน โดยหนึ่งวันไม่ควรบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเกิน 5 จาน

2. หากใช้ความร้อนในการปรุงอาหารมาก สาร THC จะเพิ่มปริมาณและเปลี่ยนเป็นสารเมามากขึ้นด้วย การปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ถือว่าเป็นวิธีการที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง นอกจากสาร THC จะมีอยู่ในใบกัญชาแล้ว ยังมีในน้ำมันอีกด้วย หากนำน้ำมันไปทอดซ้ำสารเมาก็จะเกิดขึ้น

3. ร้านอาหารที่ใช้ใบกัญชา ในการประกอบอาหารควรติดป้ายบอกลูกค้าให้ทราบอย่างชัดเจน หรือสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังในการบริโภคพืชกัญชง กัญชา ดังนี้

1.ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรบริโภคกัญชงและกัญชา เนื่องจากผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากได้รับสาร THC เข้าไปในร่างกายจะส่งผลกระทบต่อสมอง วิธีการคิด

2. ผู้ที่ไวต่อสาร THC หรือ CBD รวมทั้งผู้ที่แพ้สารนี้ หรือผู้ที่เคยทานแล้วเกิดอาการใจสั่น หน้ามืด นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป ให้หยุดทานทันที รวมถึงผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ และทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรไม่แนะนำให้ทานเช่นกัน

ขณะที่การใช้กัญชากับทางเลือกในการรักษาโรค การปลดล็อกกัญชา ก็ถือว่าเป็นทางรอด และทางเลือกของการรักษาหลายโลก อาทิ มะเร็ง พากินสัน โดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำไปใช้รักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน ผลคือผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาสามารถควบคุมอาการสั่นได้ดี แต่ไม่แนะนำการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคไต เนื่องจากกัญชาถือว่าเป็นพืชที่ดูดสารพิษเข้าตนเอง โดยเฉพาะโลหะหนักจำพวกแคดเมียม ซึ่งยากต่อการกำจัดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้กัญชาในการรักษาโรคให้เข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากโรงพยาบาลของภาครัฐทุกแห่งมีระบบการรักษาด้วยยากัญชาอยู่ ซึ่งลดความอันตรายจากการใช้งานที่ผิด และการใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

สิ่งที่กังวลคือการเอาไปใช้ผิด บางสิ่งบางอย่างมีทั้งคุณและโทษ หากใช้อย่างมีความรู้และมีสติจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่” เภสัชกรพิสณฑ์ กล่าว

แม้กัญชง กัญชา จะได้รับการปลดล็อค จนสามารถปลูก จำหน่าย รับประทาน และใช้ประโยชน์ในทุกส่วนได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชง กัญชาต้องมีความรู้และระมัดระวังเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งทำตามคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการศูนย์เสีย นอกจากยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่ต้องทราบ เช่น

หากกระทำการให้เกิดกลิ่น หรือควัน เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทางที่ไม่เหมาะสม อาทิ การสันทนาการที่อาจกระทบกับชีวิต และเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือผู้ที่อาศัยโดยรอบ เป็นเหตุรำคาญแก่ผู้อื่นถือเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565

เขียน : ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพ : ศูนย์บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / เภสัชกรพิสณฑ์ ศรีบัณฑิต

Exit mobile version