เอาจริง ๆ นะครับ ตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ๆ เลยก็ว่าได้ แต่ว่าพอเกิดโรคขึ้นมา บางทีเราก็ไม่ทันได้สังเกต จนกระทั่งอาการออก หรือการมองเห็นภาพเปลี่ยนไป เราถึงจะรู้ว่ามีปัญหาทางตาแล้ว โดยรอบนี้ มีค่า นิวส์ ไปหาข้อมูลมาไว้ให้ที่นี่แล้ว กับ “โรคจอตาบวมน้ำ”
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัชวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคทางตานอกจากสาเหตุจากเชื้อโรครอบตัวเราแล้ว อาจเกิดจากภาวะผิดปกติของร่างกายได้เช่นกัน เช่น โรคจอตาบวมน้ำ (Central serous chorioretinopathy) ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อโรค โดยโรคนี้พบได้ในผู้ที่มีอายุ 25-55 ปี เพศชายมากกว่าเพศหญิง และในกลุ่มผู้ที่จริงจังกับชีวิตและเครียดง่าย การใช้ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มว่า โรคจอตาบวมน้ำ มาจากการทำงานผิดปกติของเซลล์ในจอประสาทตา ทำให้มีการรั่วของสารน้ำเข้ามาในชั้นใต้ต่อจอตา จึงเกิดการบวมน้ำขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะความเครียด กลุ่มผู้มีบุคลิกภาพจริงจังกับชีวิตค่อนข้างเครียด (type A personality) ซึ่งนอกจากความเครียดแล้ว ยาบางชนิดยังมีผลด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ยารักษาผู้ป่วยทางจิตเวช ยาสเตียรอยด์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง โรคกรดไหลย้อน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นต้น
อาการของโรคจอตาบวมน้ำที่พบได้
- ตาพร่ามัว
- มองเห็นสีต่าง ๆ เพี้ยนไป
- มองเห็นวงดำบริเวณกลางตาเวลามอง หรืออ่านหนังสือ
- มองเห็นวัตถุขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง หรือภาพบิดเบี้ยวไป
- มองเห็นความสว่างของภาพลดลง ลักษณะคล้ายมองผ่านแว่นตาสีชา
แนวทางการรักษาและป้องกัน
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์
- พยายามลดหลีกเลี่ยงความเครียด
- ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายที่มีการสูบบุหรี่ ควรลดสูบบุหรี่
หมายเหตุ: ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-90 % จะสามารถกลับมามองเห็นได้ปกติ หากได้รับการดูแลรักษาภายใต้จักษุแพทย์
เรียบเรียงโดย เภสัชกร ณัฐพล พานทองคำ
ที่มา: กรมการแพทย์ และ ISOPTIK