Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รวม 4 ความเข้าใจผิดในการใช้ยา ต้องทำความเข้าใจใหม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

ความเข้าใจผิดในการใช้ยา

เชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยได้ยิน หรือเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ของการใช้ยามาไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องที่เข้าใจผิด แต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วไม่ควรทำแบบนั้น หรืออ้าว ทำแบบนั้นไม่ได้จริงหรือ เพราะทำแบบนั้นมาตั้งแต่เด็กแล้ว เช่น กินยาดักไข้ กินยาหลายเม็ดเกินที่หมอสั่งเพราะจะได้หายไว ๆ ปวดขาแต่ไปขอซื้อยาฆ่าเชื้อ เพราะเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ ซึ่ง มีค่า นิวส์ ไปรวบรวมประเด็นและหาคำตอบมาให้ จะได้เข้าใจถูก และใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ดังนี้

1. กินยาดัก ก่อนป่วยจริง จะได้ไม่ป่วย

ตั้งแต่เด็กจนโตเชื่อว่าพ่อแม่ และผู้ใหญ่หลายคนต้องเคยบอกว่า ถ้ารู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ ให้กินยาดักไว้ก่อน เพราะคิดว่ายาจะป้องกันไข้หวัดได้ โดยเฉพาะการกินยาพาราเซตามอล ซึ่งในความจริงแล้ว ยาพาราเซตามอลนั้นช่วยบรรเทาอาการปวด และลดไข้เท่านั้น และไม่มีข้อบ่งใช้ว่าป้องกันอาการป่วยได้แต่อย่างใด จึงควรกินแค่ตอนมีอาการเท่านั้น

ดังนั้น การกินยาดักไข้ตอนที่ยังไม่มีอาการจึงไม่สามารถช่วยป้องกันไข้หรือลดปวดได้ นอกจากนี้ยาทุกชนิดยังมีผลข้างเคียง และอาจเกิดอันตรายหากกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น การกินยาพาราเซตามอลมากเกินไป และกินนานเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอักเสบ

2. กินยาเกินขนาด จะได้หายไว ๆ

การกินยาในปริมาณ หรือขนาดที่มากกว่าแพทย์สั่ง ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ ความเข้าใจผิด หรือคิดว่าจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น นั้นไม่เป็นเรื่องจริง และไม่ควรทำเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เพิ่มโอกาสเกิดผลเสียต่อร่างกาย มากกว่าประโยชน์อย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น ทั้งในเรื่องของปริมาณ และระยะเวลาของการกินยา เพราะหากกินยามากเกิน อาจทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น ยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาที่ต้องกินตามน้ำหนักตัว โดยแนะนำให้ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ถ้าเราน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ขนาดยาจะอยู่ที่ 600-900 มิลลิกรัม หรือขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวน 1.5 เม็ด จึงเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด หากกินมากกว่านั้น และกินติดต่อกันนาน จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบได้มากยิ่งขึ้น

3. ยาแก้อักเสบ กับยาฆ่าเชื้อ คืออันเดียวกัน

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี คนก็ยังคงเข้าใจผิดว่า ยาฆ่าเชื้อกับยาแก้อักเสบเป็นยาชนิดเดียวกัน ทำให้เวลาไปร้านขายยา จึงมักชอบเรียกผิด เพราะความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้นำไปใช้ผิดวิธี และไม่เหมาะสมกับการรักษา เช่น ข้อมือส้น แต่ไปขอซื้อยาฆ่าเชื้อ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นยาแก้ปวด ซึ่งไม่ถูกต้อง และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเชื้อดื้อยาได้ในอนาคต โดยต้องเน้นย้ำว่ายาทั้งแก้อักเสบ และยาฆ่าเชื้อเป็นยาคนละชนิดกัน และมีเป้าหมายในการรักษาที่ต่างกัน ดังนี้

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น  เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง แผลเป็นฝีหนองที่ผิวหนัง เป็นต้น โดยยาฆ่าเชื้อนั้นมีหลายชนิด และการติดเชื้อแต่ละชนิดก็จะมียาฆ่าเชื้อที่เหมาะในการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยาตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุเท่านั้น ไม่ใช่จะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดก็ได้ จึงควรปรึกษาและใช้ยาตามแพทย์สั่งทุกครั้ง

ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอาการไข้ บรรเทาปวด บวม แดง  ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อม หรือการบวมจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งใช้ยาต้านอักเสบรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ

4. โรคเดียวกันแบ่งยากันกินได้

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ มีจำนวนมาก และในแต่ละการนัดของแพทย์มักจะมียาเหลือ ทั้งนี้เพราะทางโรงพยาบาลได้มีการคำนวณเผื่อในกรณีฉุกเฉินให้กับตัวผู้ป่วยเอง แต่การคำนวณเผื่อไว้นั้นทำให้เกิดการแบ่งยาไปใช้ระหว่างผู้ที่เป็นโรคเดียวกัน เพราะความหวังดีที่มีต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างมาก เพราะว่าผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว การทำงานของตับ และไต รวมถึงน้ำหนักตัว และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อชนิด และขนาดของยาที่แตกต่างกัน ยาจึงเหมาะที่จะให้การรักษาเฉพาะแต่ละบุคคลเท่านั้น

นอกจากนี้ยังไม่ควรนำยาที่ผู้ใหญ่ใช้ มาให้เด็กใช้ เพราะขนาดยาในผู้ใหญ่และเด็กยังแตกต่างกัน รวมถึงการตอบสนองของยายังมีความแตกต่างกันด้วย หากจำเป็นต้องใช้จริง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงขนาด และปริมาณที่เหมาะสมของยานั้นก่อนการนำมาใช้ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้โดยเด็ดขาด

เรียบเรียงโดย เภสัชกร ณัฐพล พานทองคำ

ที่มา: โรงพยาบาลสมิติเวช

Exit mobile version