Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

How To วิธีขับเสมหะด้วยตนเองในผู้ป่วยโควิด-19

ช่วงนี้มีรายงานถึงจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในอาการสำคัญของการติดเชื้อโควิด คือ อาการไอ ร่วมกับการมีเสมหะ ทำให้ มีค่า นิวส์ เลยใช้จังหวะนี้ไปสืบหาข้อมูลวิธีการขับเสมหะอย่างง่ายมาให้ ดังนี้

วิธีที่ 1 การไอเพื่อระบายเสมหะ ทำในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว ดังนี้

  1. นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจเข้า-ออกปกติ 3-5 ครั้ง
  2. หายใจเข้าลึกเต็มที่จนสุด โดยเน้นให้ชายโครงบานออก
  3. กลั้นหายใจไว้ 3 วินาที พร้อมกับเกร็งเนื้อหน้าท้อง
  4. ให้อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม พร้อมไอออกแรงๆ และยาวจนสุดลมหายใจออก
  5. พักด้วยการหายใจเข้า-ออกปกติ 3-5 ครั้ง
ขับเสมหะ ผู้ป่วยโควิด

วิธีที่ 2 การระบายเสมหะด้วยวิธีถอนหายใจออกแรง ทำในกรณีที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด สามารถทำได้ดังนี้

  1. นั่งบนเก้าอี้ โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย และหายใจ เข้า-ออกปกติ 3 ครั้ง
  2. หายใจเข้าปกติ จากนั้นพ่นลมหายใจออกจากคอผ่านทางปากแรง ๆ (อ้าปากกดคางลง ทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง
  3. หายใจเข้า-ออกปกติ 3 ครั้ง จนหายเหนื่อย
  4. อาจทำซ้ำ 3-4 รอบ

วิธีที่ 3 การระบายเสมหะด้วยการหายใจเป็นวงจร active cycle of breathing technique (ACBT) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจที่ไม่สามารถออกแรงมาก จนเหนื่อยเกินไปได้ สามารถทำได้โดย

  1. นั่งบนเก้าอี้ในท่าที่สบาย และผ่อนคลาย
  2. หายใจเข้า-ออกปกติ 5-10 วินาที
  3. หายใจเข้าให้สุด โดยเน้นให้ซี่โครงบานออก และหายใจออกสุด
  4. หายใจเข้าออกปกติ จากนั้นถอนหายใจออกทางปาก (อ้าปากกดคางลงทำปากเป็นรูปวงกลม) พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง กระทั่งหายใจออกสุด ทำซ้ำ 3 ครั้ง และกลับมาหายใจเข้า-ออกปกติ 3 ครั้ง
  5. หายใจเข้า-ออกปกติ 5-10 วินาที จนหายเหนื่อย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังแนะนำ วิธีลดการแพร่กระจายของเชื้อในระหว่างการระบายเสมหะ

  1. ท่านต้องใส่หน้ากากอนามัยให้กระชับใบหน้าทุกครั้งขณะไอ หรือถอนหายใจแรงเพื่อระบายเสมหะ ระหว่างการฝึกท่านควรนั่งอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
  2. หากไอแล้วมีเสมหะออกมาด้วยให้บ้วนเนื้อเสมหะใส่กระดาษชำระ และทิ้งใส่ถุงพลาสติกพร้อมมัดปากถุงให้เรียบร้อย

หมายเหตุ: หากมีอาการเหนื่อยหอบมาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หายใจสั้นหรือถี่มาก ๆ ควรพักด้วยการหายใจเข้าออกปกติจนกระทั่งไม่มีอาการดังกล่าวแล้วจึงเริ่มฝึกต่อ โดยจำนวนครั้งในการฝึกต่อวันขึ้นกับปริมาณเสมหะของแต่ละบุคคลด้วย

ที่มา: กรมการแพทย์

Exit mobile version