ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่อาจจะดูไม่สำคัญสำหรับคนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วต่อมไทรอยด์ นั้นเป็นต่อมที่ผลิต หรือสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมา ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และยังมีผลต่อการควบคุมการทำงานของ อวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย
หากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จะทำให้ระบบควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์เสียไป ทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ เมื่อร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความต้องการจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
- ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอโตขึ้น
- มือสั่น
- หงุดหงิดง่าย
- ผมร่วง
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ลักษณะอุจจาระค่อนข้างเหลว
- รับประทานอาหารปริมาณเท่าเดิม หรือมากขึ้น แต่น้ำหนักลดลง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะต้นแขน และต้นขา
- ตาโปน
โดยสาเหตุของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อาจเกิดจาก
- Grave’s disease: เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด โดยโรคนี้จัดเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป
- มีก้อนเนื้อเจริญที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules): เป็นสาเหตุที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยพบก้อนเนื้อเจริญบนต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis): มีผลทำให้ฮอร์โมนที่เก็บอยู่ในต่อมไทรอยด์รั่วออกมาได้
- การได้รับไอโอดีนมากเกินไป: การบริโภคไอโอดีนมากเกินความจำเป็น ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติได้
- ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป: สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่รับประทานยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
การรักษา หากไทรอยด์เป็นพิษ
- การรับประทานยาต้านไทรอยด์
- การรักษาด้วยสารรังสี หรือการกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสี
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
คำแนะนำเพิ่มเติม: หากพบอาการเข้าข่ายไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์
เรียบเรียงโดย เภสัชกร ณัฐพล พานทองคำ
ที่มา: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์