นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 4 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กหญิงในภูมิภาคอาเซียนตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี 2568 โดยตระหนักถึงสาระสำคัญหลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้
1.ผลกระทบด้านเพศภาวะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อสตรีและเด็กหญิง
2.สถานะของสตรีที่มีแนวโน้มอยู่ด้อยกว่าบุรุษ และกลุ่มสตรีที่อาศัยในชนบทที่ยากจน กลุ่มสตรีชาติพันธุ์ สตรีพิการ สตรีย้ายถิ่นฐาน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกละทิ้งไว้ข้างหลัง และมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสการเข้าถึงของสตรีผ่านการปฏิวัติทางดิจิทัล เช่น
- การส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีดิจิทัล
- การสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันทางดิจิทัล
เพื่อให้สตรีของอาเซียนปรับตัว พัฒนา และประสบความสำเร็จภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมยังได้ยืนยันถึงการส่งเสริมสตรีใน 2 ด้าน ประกอบด้วย
1.ส่งเสริมสตรีในเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการปรับปรุงการเข้าถึงการสนับสนุนและข้อมูลด้านการเงิน การฝึกอบอรม เสริมสร้างศักยภาพ โอกาสด้านการตลาดและความเชื่อมโยงนโยบายอื่น ๆ
2.การมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการตัดสินใจและการกำหนดนโยบาย โดยรับฟังเสียงและความต้องการของสตรี เพื่อประกันว่าการดำเนินนโยบายและแผนงานมีมุมมองมิติเพศภาวะ
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะแจ้งผลการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป