Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ยาอี หมีพูห์ ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิม หากใช้ร่วมกับยานอนหลับ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้   

สารเสพติดเป็นสิ่งที่อันตราย และรุนแรงอย่างมาก อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะในกรณีล่าสุดของการนำเอายาอี รูปร่างตัวการ์ตูน พร้อมกับยานอนหลับ มาใช้ร่วมกัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น ทำให้ มีค่า นิวส์ จึงเอาข้อมูลมาอัพเดทเพิ่มเติม

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีข่าวการตรวจยึดยาเสพติดรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นยาอีลักษณะเป็นเม็ดในรูปแบบตัวการ์ตูนหมีพูห์ สีเหลือง พร้อมยานอนหลับชนิดรุนแรง ในพื้นที่ จ.นครพนม คาดว่าจะนำยาทั้ง 2 ชนิดที่ตรวจพบมาเสพร่วมกันเพื่อให้ออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น 

ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน มีฤทธิ์หลอนประสาทและกระตุ้นประสาท จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี มีทั้งที่เป็นแคปซูลและเป็นเม็ดยาสีต่าง ๆ นิยมใช้ในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน ในขณะที่ยานอนหลับชนิดรุนแรงที่พบ จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้หลับ

โดยเมื่อเสพยาอีเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะมีอาการดังนี้

  1. รู้สึกร้อน
  2. เหงื่อออกมาก
  3. หัวใจเต้นเร็ว
  4. ความดันโลหิตสูง
  5. การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง
  6. เคลิบเคลิ้ม
  7. รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา
  8. ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

นอกจากนี้ ยาอีหมีพูห์ และยานอนหลับที่ตรวจพบเป็นยาเสพติดที่เป็นอันตรายในส่วนของยาอี จะเข้าไปทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้สดชื่น อารมณ์ดีแต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ นอกจากนี้ เมื่อสารซีโรโทนินลดลง จะทำให้การนอนหลับผิดปกติ เวลาการนอนลดลง หลับไม่สนิท อ่อนเพลียขาดสมาธิในการเรียนและทำงาน เตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักเที่ยวในสถานบันเทิง ที่นิยมใช้สารเสพติดเพื่อต้องการให้เกิดอาการมึนเมาและสนุกสนานมากขึ้นให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะตามมา ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้

ที่มา: กรมการแพทย์

ยาอี
Exit mobile version