มะเร็งปอด อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวของใครหลาย ๆ คน ทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญมากกับโรคดังกล่าว แต่ว่าปัจจัยต่าง ๆ รอบตัวเราที่ไม่ได้สังเกตนี่แหละครับ เป็นตัวกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด ทำให้ มีค่า นิวส์ จึงนำสาระที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้สังเกตอาการ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการก่อโรค
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด มีดังนี้
- การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง
- การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลาม หรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน ดังนี้
- อาการไอเรื้อรัง
- ไอมีเสมหะ
- ปนเลือด
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยหอบ
- มีเสียงหวีด
- เจ็บหน้าอก
- ปอดติดเชื้อบ่อย
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่
- การผ่าตัด
- การให้ยา
- เคมีบำบัด
- การฉายรังสี
ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายตัว รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามการป้องกันมะเร็งปอดจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้
ที่มา: กรมการแพทย์