Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

วศ.อว.เดินหน้าร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม สารสกัดใบกระท่อม ใช้เป็นมาตรฐานควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สารสกัดใบกระท่อมภาคอุตสาหกรรม

พืชกระท่อม เป็นสมุนไพรที่ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในขณะนี้  เนื่องจากพืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากบัญชี ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ  เมื่อวันที่  24  สิงหาคม  2564  ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้สามารถครอบครองและซื้อขายได้อย่างเสรีอย่างไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป 

พืชกระท่อม มีประวัติการนำมาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน  ชาวบ้านทั่วไปจะทราบกันดีว่าเมื่อเคี้ยวใบสดของกระท่อมจะช่วยให้ไม่เหนื่อยง่าย และทนแดดได้นาน  โดยเฉพาะในแถบภาคใต้ซึ่งนิยมใช้ในกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร  แต่ในความเป็นจริงแล้วใบกระท่อมยังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมาย 

ดังเช่นในตำรายาไทยและการใช้ของหมอพื้นบ้านพบว่าใบกระท่อมมีสรรพคุณใช้ระงับอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น  ปวดท้อง  บิด  ท้องร่วง ฯลฯ  ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย  ระงับประสาท  รักษาโรคกระเพาะอาหาร  รักษาโรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคผิวหนัง  เป็นต้น

สารสำคัญกลุ่มใหญ่ที่พบ คือ สารกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซึ่งสารสำคัญหลักที่พบมากที่สุด คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine)  นอกจากนี้ ยังพบอัลคาลอยด์ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น สเปซิโอไจนีน (Speciogynine) เพแนนเทอีน (Paynantheine)  สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxy-mitragynine)  เป็นต้น 

​พืชกระท่อมที่พบในประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ แบ่งตามลักษณะภายนอก ได้แก่ ก้านใบสีแดง ก้านใบสีเขียว (อาจเรียกแตงกวา) และยักษ์ใหญ่ (มีรอยหยักบริเวณปลายใบคล้ายเขี้ยว) โดยชาวบ้านเชื่อว่ากระท่อมทั้ง 3 สายพันธุ์ออกฤทธิ์ได้ต่างกัน  กล่าวคือ ลักษณะใบแบบหางกั้ง จะมีประสิทธิภาพออกฤทธิ์ต่อร่างกายมากกว่าสายพันธุ์อื่น

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations, SDOs) ประเภทขั้นสูง จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.)  ได้เล็งเห็นความสำคัญในการควบคุมคุณภาพสารสำคัญในพืชกระท่อม โดยเฉพาะสารสกัดกระท่อมที่จะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ในอนาคต โดยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างใบกระท่อม

ในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่

1.จังหวัดนนทบุรี

2.จังหวัดปทุมธานี

ในพื้นที่ภาคใต้  ได้แก่

1.จังหวัดสตูล

2.จังหวัดนครศรีธรรมราช

3.จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

4.จังหวัดชุมพร

เพื่อนำมาศึกษาปริมาณสารสำคัญในตัวอย่างพืชกระท่อม รวมถึงพัฒนาวิธีวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ โดยทำความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เพื่อส่งเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบ และการพัฒนามาตรฐานวัตถุดิบและสารสกัดจากพืชกระท่อม 

ซึ่งขณะนี้ วศ.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) สารสกัดใบกระท่อม เพื่อใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สารสกัดใบกระท่อมที่จะไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆต่อไป

Exit mobile version