Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ ระยะที่ 2 ครม.ไฟเขียวงบ 287 ล้าน จ่ายเยียวยาค่าทำลายเรือประมงจากมาตรการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU

จ่ายเยียวยาค่าทำลายเรือประมงจาก IUU

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 กันยายน 2565 ว่าตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาการทำ ประมงผิดกฎหมาย (IUU) ให้เป็นไปตามกฎระเบียบสากล ส่งผลให้มีเรือประมงจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำประมงได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทำให้เจ้าของเรือต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือ ประกอบกับปัจจุบัน ปี 2565 มีจำนวนเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงมากถึง 9,608 ลำ เกินกว่าระดับที่เหมาะสมอาจส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงและหมดไป เนื่องจากเจริญเติบโตไม่ทัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์น้ำ รวมทั้งชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบ ครม.จึงอนุมัติ โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 กรอบวงเงิน 287.18 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 จำนวน 59 ลำ โดยใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปี 2565 ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

โครงการนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ซึ่งได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงไปแล้วจำนวน 305 ลำ (จากทั้งหมด 570 ลำ) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 764.45 ล้านบาท การจ่ายเงินชดเชยการทำลายเรือประมงยังคงใช้เกณฑ์ตามเดิม แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือ

งวดที่ 1 จ่ายเงินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินค่าชดเชย เป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนเรือหรือทำลายเรือประมง

งวดที่ 2 จ่ายเงินร้อยละ 70 ของจำนวนเงินค่าชดเชย โดยจ่ายหลังจากเจ้าของเรือแยกชิ้นส่วนเสร็จหรือทำลายเรือประมงเรียบร้อยแล้ว

โครงการนี้ จะช่วยให้ไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงให้มีจำนวนเหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายจากการใช้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทาการประมงพาณิชย์ รวมถึงเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของเจ้าของเรือจากมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทางประมงผิดกฎหมาย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการในระยะต่อไป คือ กลุ่มเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ที่ต้องการเลิกอาชีพทำการประมง ซึ่งมีอยู่จำนวน 2,513 ลำ

Exit mobile version