Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

วีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาล ครม.ลดค่าธรรมเนียม จากเดิมคนละ 6,000 บาท เหลือคนละ 5,000 บาท ใช้ได้ 1 ปี ครั้งละไม่เกิน 90 วัน เริ่ม 1 ม.ค. 66  

ลดค่าธรรมเนียม “วีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาล” คนละ 5,000 ใช้ได้ 1 ปี

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการกำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ให้ใช้อัตราใหม่ คือ รายละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จากเดิมรายละ 6,000 บาท

สำหรับประเภท วีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาล สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน ผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกในไทยได้หลายครั้ง (Multiple Entry) ครั้งละไม่เกิน 90 วันในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบวีซาประเภทนี้ **ในวันที่ 1 มกราคม 2566

วัตถุประสงค์

1.เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 – 2569)

2.ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ครม.จึงมีมติให้พิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้ากับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ในอัตรารายละ 5,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2523) ออกตามความใน พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

ทั้งนี้ การขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ หรือ Medical Treatment Visa รหัส Non-MT ที่จะต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ผู้ขอจะต้องมีการยื่นเอกสารการนัดหมายกับสถานพยาบาล (Confirmation Letter)

หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 800,000 บาท หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เอกสารแสดงประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองการรักษาโควิด-19 ในประเทศไทย และการขออยู่ต่อจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น

กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ารับการขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล เฉพาะผู้ที่มารับบริการในกลุ่มโรคหรือหัตถการที่มีระยะเวลารักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน โดยสถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ

1.เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ

2.การแพทย์ทางเลือก

3.โรคระบบหัวใจหลอดเลือด

4.โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

5.ทันตกรรม

6.เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์

7.โรคมะเร็ง

8.ศัลยกรรมเสริมความงาม

9.จักษุ

10.การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

11.การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง

12.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

13.โรคอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยรับรองเป็นรายกรณี โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดทำเอกสารกลุ่มโรคและหัตถการเพื่อการรับรอง

Exit mobile version