ภาวะตาบอดกลางคืน (Night blindness) หรือปัญหาการมองเห็นในที่มืด ซึ่งเกิดจากบริเวณจอตา (Central retina) มีความผิดปกติ ทำให้ความคมชัดของภาพลดลง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีความลำบากในการทำกิจวัตรในที่แสงมืด หรือสลัว หรือต้องใช้เวลาปรับตัวในการเข้าในที่มืดนานกว่าปกติ ซึ่งลักษณะอาการผู้ที่มีอาการตาบอดกลางคืนนั้น มักจะเกิดขณะที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนการมองจากที่ที่มีแสงสว่างมาก ไปยังที่แสงสลัว เช่น การเดินจากภายนอกอาคารเข้ามาในตัวอาคารการเข้าชมภาพยนต์ หรือการขับรถตอนกลางคืนที่มีแสงสว่างไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
นอกจากนี้ตาบอดกลางคืน ยังเกิดได้จากอีกหลายปัจจัย เช่น
- การขาดวิตามิน เอ และขาดสังกะสี ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการมองเห็น ซึ่งสามารถหาได้จากการกินถั่วเปลือกแข็ง เนื้อวัว หรือสัตว์ปีก
- มีปัญหาเกี่ยวโรคทางตา เช่น สายตาสั้น ต้อกระจก ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา หรืออาจจะเกิดการผิดปกติที่จอประสาทตา
- ความบกพร่องทางพันธุกรรม เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinitis Pigmentosa)ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้
การป้องกันตาบอดกลางคืน สามาถทำได้ ดังนี้
- การขาดวิตามิน-เอ แนะนำให้กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกมื้ออาหาร เช่น น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง แครอท บร็อคโคลี่ ฟักทอง หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทะเลน้ำลึก เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว
- หากเกิดจากกรรมพันธุ์ เป็นโรคป้องกันไม่ได้ แต่การพบจักษุแพทย์ทันที อาจช่วยชะลอการเสื่อมของจอตาให้ช้าลงได้
ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข