Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

How To ยื่นภาษีออนไลน์ 2567

ในวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ประชาชนผู้มีรายได้ ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยวิธีการยื่น เราสามารถทำด้วยตัวเองง่าย ๆ ผ่านระบบ E-Filing ที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-efiling-web/login ซึ่งถ้าเรากรอกรายละเอียดและส่งเอกสารเร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้เงินคืนภาษีเร็วขึ้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >> How To ยื่นภาษี คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล

อ่านเพิ่มเติม >> คำนวณภาษี 2566 ยังไง ?

อ่านเพิ่มเติม >> ไม่จ่ายเงินภาษี ไม่ยื่นภาษี เสียค่าปรับ เท่าไหร่ ?

แต่การยื่นแบบผ่านทางออนไลน์ บางคนอาจไม่ถนัด ไม่รู้วิธี  มีค่า นิวส์ จึงสรุปขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์มาฝากทุกคนในฉบับเข้าใจง่าย ซึ่งการ ยื่นภาษีออนไลน์ 2567 จะเป็นการใช้ข้อมูลเงินได้ของปีก่อน (ยื่นภาษี 2566) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 มายื่นค่ะ อาทิ

– ชื่อ สกุล ของผู้ยื่นภาษี และคู่สมรส

– เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่ทำงานอยู่ หรือนายจ้างที่จ่ายค่าจ้างอื่น ๆ

– ยอดเงินที่เป็นรายได้

– ยอดที่จ่ายให้กับกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, SSF, RMF, LTF, กองทุนประกันสังคม, กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

– หนังสือรับรองการหักเสียภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)

– เลขบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส, บุตร, บิดามารดา ที่นำมากรอกยื่นเพื่อลดหย่อนภาษี

– หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตของผู้ยื่นภาษี และประกันสุขภาพของบิดาหรือมารดาที่นำมายื่นลดหย่อนภาษี

– ข้อมูลอื่น ๆ เช่น ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล หรือ มูลนิธิที่กำหนด

แบบรายการที่สามารถยื่นผ่านทางออนไลน์ได้ มีดังนี้

1.ภ.ง.ด. 90 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร

2.ภ.ง.ด. 91 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

3.ภ.ง.ด. 94 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(5)(6)(7)(8) แห่งประมวลรัษฎากร

4. ภ.ง.ด. 95 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax Return)

ขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91

1.เข้าไปที่เว็บไซต์  https://efiling.rd.go.th/rd-efiling-web/login

2.เข้าสู่ระบบ ยืนยันตัวตนโดยขอรหัส OTP ไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ลงทะเบียน

3.ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ คำนำหน้าชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน และข้อมูลการยื่นภาษีร่วมหรือ แยกกับคู่สมรส เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้ว กด “ถัดไป” หรือ “บันทึกร่าง”

4.กรอกข้อมูลเงินได้ให้ครบถ้วน เช่น รายได้จากเงินเดือน / รายได้จากฟรีแลนซ์ / รายได้จากทรัพย์สิน และการทำธุรกิจ / รายได้จากการลงทุน ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด ๆ จากคริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล

5.กรอกข้อมูลการลดหย่อน อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัว / ค่าลดหย่อนยกเว้นด้านการออมและการลงทุน  / ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ / เงินบริจาค กด “ถัดไป”

6.ตรวจสอบข้อมูลเงินได้และรายการลดหย่อนทั้งหมด ระบบจะคำนวณการเสียภาษีมาให้ หากชำระภาษีไปแล้ว ก็จะมียอดที่ชำระไว้เกินปรากฏ หากต้องการขอคืนภาษี กด “ต้องการขอคืน” หรือ “ไม่ต้องการ” และสามารถเลือกอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้อีกด้วย

7.เมื่อกรอกแบบ ภ.ง.ด. 91, ภ.ง.ด. 90 เรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกพิมพ์แบบ บันทึกร่าง หรือกดยืนยันเพื่อส่งแบบยื่นภาษี 2565 ได้ทันที หากต้องการขอคืนภาษี ก็เลือกช่องทางตามวิธีในประกาศแต่ละปีของกรมสรรพากร

ซึ่งในปีนี้ (2567) กรมสรรพากร เตรียมช่องทางขอคืนภาษีไว้ 3 ช่องทาง ดังนี้

1.คืนภาษีผ่านพร้อมเพย์

บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ลงทะเบียนพร้อมเพย์กับบัญชีเงินฝากธนาคารด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักจะได้รับภาษีคืนสะดวก รวดเร็ว (มากกว่า 90% ของผู้ขอคืนปีที่แล้วใช้วิธีนี้)

2.ไม่ประสงค์ขอคืนผ่านพร้อมเพย์

กรมสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งคืนภาษี (ค.21) ให้เป็นหลักฐาน นำไปติดต่อรับเงินคืนที่สาขาธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เลือกได้ว่า

– จะนำเข้าระบบพร้อมเพย์ กรณีลงทะเบียนภายหลัง

– จะนำเข้าบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย หรือ ธ.ก.ส.

– จะคืนด้วยบัตรเงินสด e – Money (ของ ธ.กรุงไทย)

**หมายเหตุ : กรณีมอบอำนาจ ธนาคารจะนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ขอคืนเท่านั้น

3.ผู้ขอคืนที่ไม่สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

ชาวต่างชาติ ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล วิสาหกิจชุมชน และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกรมสรรพากรจะออกหนังสือ ค.21 พร้อมเช็ค ส่งให้ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนแบบแสดงรายการ เพื่อนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเท่านั้น

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ >> https://www.rd.go.th/62337.html

ที่มา : กรมสรรพากร : The Revenue Department

Exit mobile version