กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้โรคลมแดดในเด็กช่วงหน้าร้อน ที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม แนะดูแลอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงและอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงปิดเทอม ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวพากันเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการเจอแสงแดด อากาศร้อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่าง ๆได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ และอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ โรคลมแดด เนื่องจากร่างกายของเด็กยังปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ อาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ซึ่งหากอุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะอื่น ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นล้มเหลว จนเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นและหากพบความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลมแดด คือ ภาวะฉุกเฉินที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนมาก ๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ สำหรับการป้องกันลมแดดในเด็ก โดยในวันที่อากาศร้อนมากให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ ทุกชั่วโมง ให้สวมชุดเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เลือกสีอ่อน ๆ ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือใช้กำลังกลางแจ้ง สวมหมวกหรือใช้ร่มเมื่ออยู่ในที่กลางแจ้ง ไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง และให้สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการชัก หรือหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบนำเด็กเข้าร่มในทันที การดูแลเบื้องต้นในกรณีที่เด็กเป็นลม คือ ให้เด็กนอนราบแล้วยกเท้าทั้งสองข้างให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น หากเด็กยังมีสติอยู่บ้าง ควรให้เด็กได้จิบน้ำบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายเย็นด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที