Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กำหนดการงานราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

กำหนดการงานราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

สำหรับพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 2566 ส่วนใหญ่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมโบราณ ตามราชประเพณีของอังกฤษ ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปี ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ

โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชนมพรรษา 74 พรรษา และสมเด็จพระราชินีคามิลลา (the Queen Consort) พระชนมพรรษา 75 พรรษา จะทรงรับการสวมมงกุฎพร้อมกัน โดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษในครั้งนี้ นับเป็นพระเจ้าแผ่นดินลำดับที่ 40 ที่ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ใจกลางกรุงลอนดอน นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1066 และนี่คือ กำหนดการครั้งประวัติศาสตร์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เป็นเวลามาตรฐานของอังกฤษ (BST) ซึ่งช้ากว่าเวลาในไทย 6 ชั่วโมง

เวลา 06.00 น. การเฉลิมฉลองพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้น ด้วยการเคลื่อนขบวนเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังบักกิงแฮม ไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในช่วงเวลาก่อน 11.00 น.เล็กน้อย แต่จะเปิดพื้นที่สำหรับการเฝ้าชมขบวนเสด็จสองทางข้าง ให้ประชาชนได้เข้าจับจองพื้นที่ตั้งแต่เช้าตรู่ ราว 06.00 น.
ผู้ที่มาก่อน จะได้เข้าถึงพื้นที่ริมถนนเดอะมอลล์ และถนนไวต์ฮอลล์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน ส่วนคนที่มาทีหลังหากบริเวณเฝ้าชมขบวนเสด็จสองข้างทางเต็มแล้ว จะได้รับการจัดสรรที่นั่งเพื่อชมการถ่ายทอดสดจากจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ ในสวนสาธารณะไฮด์พาร์ก, กรีนพาร์ก และสวนหลวงเซนต์เจมส์

07.15 น. แขกที่ได้รับเชิญให้เข้ามาในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์จะเริ่มมาถึงจุดตรวจรักษาความปลอดภัยที่บริเวณ วิกตอเรีย ทาวเวอร์ การ์เดนส์

09.30-10.45 น. แขกผู้ทรงเกียรติที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีราชาภิเษก รวมทั้งสมาชิกราชวงศ์ ประมุขแห่งรัฐ และอดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

10.20 น. สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระราชวังบักกิงแฮมมายังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ด้วยราชรถพัชราภิเษก (Diamond Jubilee State Coach) ซึ่งถือเป็นราชรถที่ใหม่ที่สุดสร้างขึ้นเมื่อปี 2012 ที่ออสเตรเลีย เพื่อใช้ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยคาดว่าขบวนเสด็จจะถึงมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ก่อนเวลา 11.00 น.เล็กน้อย

เวลา 11.00-13.00 น. พิธีบรมราชาภิเษก : 5 ขั้นตอนสำคัญ
ขั้นตอนที่ 1 รับรองฐานะความเป็นกษัตริย์
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี ผู้นำหลักของคริสตจักรแห่งอังกฤษ จะยืนอยู่หน้าบัลลังก์ราชาภิเษก อายุ 700 ปี และหันไปทุกทิศ ก่อนจะป่าวประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คือ กษัตริย์พระองค์ใหม่ของพวกเรา

ขั้นตอนที่ 2 ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี จะขอให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่า จะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลระหว่างตรัสคำปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทรงปฏิบัติตาม

ขั้นตอนที่ 3 เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
กษัตริย์พระองค์ใหม่จะประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษกเพื่อทรงรับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงถึงสถานะผู้นำทางจิตวิญญาณ และความเป็นองค์ประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ

ขั้นตอนที่ 4 : สวมพระมหามงกุฎ
เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ และเปลี่ยนเครื่องทรงเรียบร้อยแล้ว พระราชพิธีได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนสำคัญอันเป็นหัวใจของราชาภิเษก หรือการสถาปนาแต่งตั้งพระราชา 
ก่อนจะถึงขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ ประกอบด้วย ลูกโลกประดับกางเขน, พระธำมรงค์ประจำองค์พระมหากษัตริย์, พระคทากางเขน, และพระคทานกพิราบ แล้วจึงถวายการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดได้ในที่สุด โดยจะมีการเป่าแตร และยิงสลุตทั่วสหราชอาณาจักรอย่างพร้อมเพรียงกัน
นักบวชจะถวายการสวม หรือวางพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียรของกษัตริย์องค์ใหม่ ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพพระองค์จะได้ทรงพระมหามงกุฎนี้เพียงครั้งเดียว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น และจากนั้นจะมีการยิงสลุต ถวายพระเกียรติ

ขั้นตอนที่ 5 : เสด็จขึ้นครองราชย์
ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์อันเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ 

ตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ในขั้นตอนนี้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง จะพากันต่อแถวยาว เพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพ ด้วยการคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์ กล่าวถวายความจงรักภักดี ก่อนจะจุมพิตที่พระหัตถ์ขวา
อย่างไรก็ตาม คาดว่าครั้งนี้พิธีการจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเจ้าชายวิลเลียมพระราชโอรสองค์โต จะเป็นพระราชวงศ์ที่มีฐานันดรชั้นดยุกเพียงพระองค์เดียว ที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพต่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3
พระราชพิธีสำหรับสมเด็จพระราชินีคามิลลา

หลังจากราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาร์ลส์ ที่ 3 เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการประกอบพระราชพิธีอภิเษก หรือการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีคามิลลา (the Queen Consort) โดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี ดำเนินพิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเรียบง่ายกว่า ทั้งไม่ทรงต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามแบบของกษัตริย์

เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จพระราชดำเนินจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม ด้วยราชรถทองคำ (Gold State Coach) ตามธรรมเนียมดั้งเดิม ซึ่งเป็นราชรถที่อายุเก่าแก่ 260 ปี และใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่เริ่มต้นรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปี 1831
คาดว่าจะมีทหารร่วมในขบวนเสด็จพระราชดำเนินกลับวังบักกิงแฮมเกือบ 4,000 นาย

14.15 น. สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จออกสีหบัญชรของพระราชวังบักกิงแฮม พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษ หลังเสร็จสิ้นการประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่ราชวงศ์อังกฤษทรงยึดปฏิบัติมาโดยตลอด เพื่อทรงพบกับเหล่าพสกนิกร ซึ่งมารวมตัวกันที่ถนนเดอะมอลล์ ด้านหน้าพระราชวังบักกิงแฮม และทอดพระเนตรการบินถวายพระเกียรติจากฝูงบินของกองทัพอากาศ

ที่มา : BBCDailymail และ https://www.thairath.co.th/news/foreign/2691188

อ่านเพิ่มเติม >>
หินแห่งโชคชะตา คู่พิธีพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คืออะไร

Exit mobile version