กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิด ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) ระดมสรรพกำลังสกัดโรคไข้เลือดออก มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยให้ไม่เกินค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือนมิถุนายนและตลอดช่วงฤดูฝน (มิ.ย.-ส.ค.) และ ลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกินร้อยละ 0.10 ในปี 2566
ใช้กลยุทธ์การติดตามกำกับและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกจังหวัดของประเทศไทย สอบสวนแหล่งแพร่โรคและควบคุมโรคในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออกด้วยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย กำหนดให้มีภารกิจด้านต่าง ๆ
ทั้งนี้ คาดหวังให้มีการขับเคลื่อนระบบการจัดการทั้งด้านบน และในฐานพื้นที่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเร่งรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ดำเนินการร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกำกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าล้านคน จะช่วยเป็นแรงผลักดันประชาชนร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไป
จากข้อมูลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ พบว่าวัดยังเป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำสูงสุด (ร้อยละ 64.6) รองลงมา คือโรงเรียน (ร้อยละ 55.1) สถานที่ราชการและโรงงานพบมากเป็นลำดับถัดมา
ความสำคัญ คือ วัดเป็นสถานที่มีประชาชนเข้ามาทำบุญมากมาย อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคเป็นอย่างมาก และโรงเรียนคือสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงคือเด็กนักเรียนกลุ่มวัย 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจากสถิติเป็นกลุ่มที่มีรายงานการป่วยมากที่สุด โดยมีวิธีป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จ หลาย ๆ วิธีร่วมกัน เช่น
1.การลดแหล่งเพาะพันธุ์โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม
2.การกำจัดลูกน้ำยุง
3.การป้องกันไม่ให้ยุงกัด
4.การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค
5.หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต