Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รู้จัก! มินิธัญญารักษ์ ทางเลือกฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

มินิธัญญารักษ์ เป็นแนวคิดขยายพื้นที่บริการและเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยยาและสารเสพติดในเขตสุขภาพ ลดความแออัดสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพระยะยาวในโรงพยาบาลเฉพาะทาง มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอสำหรับจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีการปรับระบบการบำบัดรักษาจากเดิม คือ 1.ระบบสมัครใจ 2.ระบบบังคับบำบัด 3.ระบบต้องโทษ เป็น **การสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายนี้ได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดในระบบต่างๆ ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการดูแล ด้วยกลไกสาธารณสุขแทนการดำเนินคดีทางอาญา ถือว่า “ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการดูแลบำบัดรักษา เน้นลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคม ได้อย่างปกติสุข

นายแพทย์ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น กรมการแพทย์ จึงมีแนวคิดขยายบริการดังกล่าวสู่เขตสุขภาพ ด้วยความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อม โดยใช้แนวคิด “Mini Big C” ที่นำห้างสรรพสินค้าลงสู่ชุมชนในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ จึงได้นำแนวคิด (Concept) ดังกล่าวมาพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาและสารเสพติดระยะกลาง (Intermediate Care) และระยะยาว (Long term Care) ภายใต้ชื่อ “มินิธัญญารักษ์” และพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดระยะยาวในโรงพยาบาลชุมชน เขตสุขภาพที่ 7, 9, 10 ซึ่งเป็นรูปแบบ Long term Care ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2564 ณ โรงพยาบาลกุดชุม จ.ยโสธร

ประโยชน์ที่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ จะได้รับ เช่น

1.ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สะดวกต่อการเดินทาง ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการเดินทางมารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทาง

2.แก้ปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ลดความแออัดในการอยู่บำบัดรักษา

เป้าหมายสูงสุด คือ การที่ผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องจนถึงการติดตามจนสามารถกลับมาประกอบอาชีพโดยสุจริตได้

นอกจากนี้ โรงพยาบาลชุมชนยังมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผู้ให้การบำบัดรักษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาและสารเสพติดแบบ Residential Care เพิ่มอัตราครองเตียงภาพรวมของโรงพยาบาล รวมถึงเพิ่มค่าความยากง่ายในการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostic Related Groups : DRG) เพิ่มคุณภาพบริการ (Case Mix Index : CMI) ของโรงพยาบาลชุมชนให้มากขึ้นอีกด้วย

การขยายผล กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ร่วมกับกรมการแพทย์ ได้ขยายผลโครงการดังกล่าวสู่โรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนแจ้งความประสงค์เปิดให้บริการแล้วกว่า 33 แห่ง

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรซึ่งจำเป็นต้องผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด ซึ่งสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมมราชชนนี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง จะดำเนินการขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้ง 4 ภูมิภาค

Exit mobile version