Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กองทุนสื่อฯ ถอดบทเรียนงานวิจัย “Media Quality Rating” มุ่งยกระดับคุณภาพสื่อไทย

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีสัมมนาถอดบทเรียน “Media Quality Rating จากงานวิจัยสู่การยกระดับคุณภาพสื่อไทย” โดยมี ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ณ โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ พาร์ค วิว โฮเทล แอนด์ เรซิเด้นท์

การสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างองค์ความรู้ในการจัดระดับความนิยมของผู้ชม หรือที่เรียกกันว่า “เรตติ้ง” เป็นระบบการวัดเกี่ยวกับสื่อที่ใช้และเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายมานานในหลายประเทศ ซึ่งเป็นการวัดการเปิดรับสื่อของผู้ชมผู้ฟังในเชิงปริมาณ หรือการวัดความนิยมของเนื้อหา (content popularity) แต่อาจสะท้อนคุณลักษณะอันเป็นคุณภาพของเนื้อหาไม่ได้ (content quality)

ดังนั้น ระบบในการประเมินคุณภาพหรือกำหนดระดับคุณภาพของสื่อที่นำเสนอเนื้อหาต่อสาธารณะจึงมีความสำคัญ ควรได้รับการพัฒนาและนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เล็งเห็นความสำคัญและได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating)

สำหรับการจัดสัมมนาดังกล่าว ทีมวิจัยเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยฯ นำโดย  ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการนี้ พยายามศึกษาเพื่อค้นหาว่า “คุณลักษณะของความมีคุณภาพของเนื้อหาที่สื่อนำเสนอต่อสังคม” ประกอบด้วยอะไรบ้าง จากมุมมองที่สอดคล้องกันของภาควิชาการจากการศึกษาที่ผ่านมา เวทีดังกล่าว ยังเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันจากผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสื่อ (รายการข่าว, รายการเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว) กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียผู้บริโภคสื่อ และ กลุ่มประชาชนที่มีส่วนร่วมประเมินคุณภาพรายการในโครงการวิจัย เพื่อถอดบทเรียนและนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการนำระบบ Media Quality Rating ไปใช้ในอุตสาหกรรมสื่อเกิดขึ้นได้จริง

ด้าน ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล นักวิชาการอิสระ/ผู้ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน สำนักงานคณะกรรมการติดตามและประเมินผล กสทช. มองว่า หากจะทำให้เกิดการใช้งานได้จริง จำเป็นที่จะต้องมีระบบรองรับขนาดใหญ่ และสามารถทำได้แบบเรียลไทม์ โดยจะต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีคลังข้อมูล ที่สามารถส่งไปให้สถานีต่าง ๆ นำข้อมูลเดียวกันนี้ไปใช้ปรับปรุงคุณภาพรายการให้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่คุณภัทรพร เหลืองกาญจนา กรรมการฝ่ายประสานงานภาครัฐ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เสนอว่า ระบบวัดเรตติ้งปกติ ยังจับรายละเอียดผู้รับชมไม่ได้มากนัก แต่หากระบบ Media Quality Rating สามารถนำไปใช้งานจริงในอนาคต ก็จะทำให้รายการที่ถูกประเมินมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อาจเข้าถึงรายละเอียดอื่น ๆ ได้ เช่น พิธีกร หรือ เนื้อหารายการ ส่งผลดีต่อการนำเสนอลูกค้า

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวปิดท้ายถึง ระบบ Media Quality Rating เป็นก้าวหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้สื่อไทยมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ อีกทั้งจะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดพลเมืองที่ดีต่อไป

Exit mobile version