Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ประวัติ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล หรือ ส.ส.ปุ้ย เกิดวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ปัจจุบันอายุ 43 ปี เกิดที่ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรสาวของ มาโนชญ์ วิชัยกุล กับ สำรวย วิชัยกุล จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จบระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับ นิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ประกอบธุรกิจบริษัท วอเตอร์เทสท์ จำกัด ต่อมาเข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช แทนบิดาซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสมัย

กระทั่งในปี 2562 พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยที่ 3 และยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ต่อมาปี 2563 มีข่าวว่าเธอจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เธอก็ปฏิเสธ

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่ม กปปส. กระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พิมพ์ภัทราได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ต่อมาเธอลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดเดิมในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ได้รับเลือกตั้งก่อนหน้านั้น และได้รับการเลือกตั้ง โดยเธอเป็น ส.ส. ของ รทสช. เพียงคนเดียวในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนเธอได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ผลงานเด่น

1.เป็นแกนหลักในการประสานงานระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการระดับจังหวัด กรม และกระทรวงจนนำไปสู่การจัดสร้างโครงการประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบโครงการประตูระบายน้ำคลองกลายบ้านนากุน ต.สระแก้ว  อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช งบประมาณ 688,000,000 บาท

2.รับความเดือดร้อนจากประชาชน เข้าร่วมกับท้องที่ ท้องถิ่นและดำเนินการโดยเป็นแกนหลักในการผลักดัน จัดหางบประมาณ เร่งก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองท่าเชี่ยว พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ หมู่ที่ 16  ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล  จ.นครศรีธรรมราช งบประมาณ 59,374,000 บาท

3.เป็นแกนหลักในการระดมความร่วมมือและความคิดเห็นจากประชาชน จากท้องที่ ท้องถิ่น และรับประเด็นไปผลักดันจนนำไปสู่การก่อสร้าง ฝายชะลอน้ำบ้านทุ่งใหญ่พร้อมอาคารประกอบ  ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช งบประมาณ 30,000,000 บาท

4.ผู้นำวิธีคิด “วาระเมืองสิชล” สร้างวิธีคิดการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ด้วยการนำเอาความร่วมมือจากท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มาสังเคราะห์ปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การจัดระเบียบตามสภาพปัญหา ความเร่งด่วนและนำไปสู่การจัดระเบียบการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักในชื่อวาระเมืองสิชล

5.เป็นเจ้าของวิธีการทำงานที่ประชาชนชนรู้จักความเป็น “บุคคล” มากกว่าความเป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ความเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างคนพื้นที่ที่ถูกประชาชนในพื้นที่ร่วมกันส่งให้ไปทำงานแทนในฐานะ “ผู้แทน” ทำให้เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ “บุคคล” เป็นมนุษย์งานที่ต้องทำงานอย่างตรงกับความต้องการของประชน และในความเป็น “ผู้แทน” มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ เข้าใจ เข้าถึง และรู้จักสภาพพื้นที่ นำประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเข้าถกเถียงในสภาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขอบคุณข้อมูล วิกิพิเดีย, NewTV

ขอบคุณภาพ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

Exit mobile version