พระเจ้าเสือ หรือ พระนามเดิม “ท่านเดื่อ” หรือ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (คำให้การชาวกรุงเก่า) หรือ หลวงสรศักดิ์ (สิงห์) รวมถึง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชวินิจฉัยพระนามว่าเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246-2251
อ่านเพิ่มเติม >> เรื่องย่อ ละคร พรหมลิขิต
อ่านเพิ่มเติม >> ดูสดช่อง 3 Netflix พรหมลิขิต ดูย้อนหลัง พรหมลิขิต
สำหรับพระนามเดิม “ท่านเดื่อ” สืบเนื่องมาจากพระมารดา และ สมเด็จพระเพทราชา (จางวาง-กรมช้าง) ตามเสด็จองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ วัดพระศรีมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ขบวนเสด็จพระราชดำเนินถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร พระมารดาเจ็บครรภ์คลอดพระองค์ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งมีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ใกล้กัน และได้นำรกไปฝังไว้ระหว่างต้นโพธิ์กับต้นมะเดื่อ พระองค์จึงได้ชื่อว่า “ท่านเดื่อ” นั่นเอง
ในขณะพระนาม พระเจ้าเสือ มาจากที่ประชาชนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์เช่นนี้ เพื่อเปรียบว่า พระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าพระองค์ทรงพอพระทัยเสวยน้ำจัณฑ์ แล้วเสพสังวาสด้วยดรุณี หากผู้ใดทำให้ขุ่นเคืองพระทัย พระองค์จะดำรัสสั่งให้เอาผู้นั้นเกี่ยวเบ็ดทิ้งลงไปกลางทะเล ให้ปลาฉนากฉลามกินเป็นอาหาร และยังมีประวัติว่าทรงพอพระทัยในตัว ท้าวทองกีบม้า อย่างมาก แต่นางไม่ได้ตอบรับสัมพันธ์ของพระองค์ อ่านเพิ่มเติม >> ท้าวทองกีบม้า ประวัติ เป็นยังไง ส่องที่นี่
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยกันว่า พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์พระองค์ใดกันแน่ ระหว่างสมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า พระเจ้าเสือ ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระเพทราชา
ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่า พระเจ้าเสือ ทรงเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนม ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพญาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่ ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้ากรมช้าง)
ทั้งนี้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าเสือ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีความสามารถบังคับช้างพลายซ่อมตัวหนึ่งที่กำลังตกมันได้สำเร็จ กลายเป็นที่กล่าวขาน เพราะแม้แต่ครูช้างผู้ใดขับขี่ช้างเข้มแข็งก็มิอาจขี่ช้างตัวนี้ลงน้ำได้ จึงได้รับการโปรดปรานให้เป็นหลวงสรศักดิ์ ในกรมพระคชบาล
พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้าน มวยไทย ทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน รวมถึงยังเคยปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านชกมวยกับนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญ สามารถชนะนักมวยเอกได้ถึง 3 คน
เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงพระประชวร พระเจ้าเสือ ซึ่งในตอนนั้น ดำรงพระยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หวังจะได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา แต่สมเด็จพระเพทราชากลับทรงโปรดปราน เจ้าพระขวัญ แถมมีผู้คนมากมายต่างพากันนับถือ ทำให้ พระเจ้าเสือ เกิดความหวาดระแวงว่า ราชสมบัติจะตกไปอยู่กับเจ้าพระขวัญ จึงเกิดเหตุการณ์นำเจ้าพระขวัญมาสำเร็จโทษด้วยไม้ท่อนจันทร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต พระเจ้าเสือ ก็ทรงได้ขึ้นครองราชสมบัติสมพระทัย ในปี พ.ศ. 2246 มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ทั้งยังทรงฝึกให้พระพระราชโอรสทั้ง 2 มีความสามารถในด้านมวยไทย, กระบี่กระบอง และมวยปล้ำ
ด้านพระราชกรณียกิจ พระเจ้าเสือ ทรงทำนุบำรุงศาสนา และ มีพระปรีชาด้านวรรณกรรมอีกด้วย สำหรับ พระเจ้าเสือ ทรงอยู่ในราชสมบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2246-2251 เป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะสวรรคต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2251 ทรงมีพระชนมายุ 47 พรรษา โดยและพระโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระเจ้าท้ายสระ โดยไม่มีปัญหาการแย่งราชสมบัติ
ขอบคุณข้อมูล วิกิพิเดีย
ขอบคุณรูปภาพ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์