เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนและเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานของผู้ประกอบการ OTOP ตนได้สั่งการและให้นโยบายแก่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ และชุมชน
เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับขีดความสามารถของชุมชน รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการของชุมชนสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยยกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า วศ.อว. ได้ดำเนินการระดับพื้นที่ เพื่อวินิจฉัยปัญหา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต รวมถึงการยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ได้แก่
“การพัฒนากระบวนการผลิตเซรามิก” กลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง โดยเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจวัตถุดิบ ดินขาวระนอง และแร่ดีบุกเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุดถ้วยกาแฟและจานใบบัว จานที่ระลึกลายนูนต่ำรูปพระราชวังรัตนรังสรรค์
“การมัดย้อมผ้าทอมือด้วยสีธรรมชาติ และการเขียนลายเส้นบนผ้าทอมือ” ให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มระนองบาติก โดยสอนเทคนิคการสกัดและย้อมสีจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ใบมะม่วง ใบมังคุด ทำผ้ามัดย้อม การออกแบบลวดลายของเส้นเทียนบาติกให้ผ้ามีมิติมากขึ้นเป็นการผสมผสานเข้าด้วยกันให้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น
“การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากน้ำแร่ธรรมชาติ” โดยลงพื้นที่สำรวจบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน นำน้ำแร่ระนองมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่เหลวน้ำผึ้ง สบู่กลีเซอรีน สเปรย์น้ำแร่ แชมพู ครีมนวดผม และเกลือขัดผิว ผนวกกับใช้สมุนไพรที่มีประโยชน์เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสานกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่
“การยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์สะตอ” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบในท้องถิ่นของภาคใต้ เช่น สะตอบรรจุในถุงสุญญากาศ สะตอดองในน้ำปรุงรส สะตอทอดกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบสะตอ
“การพัฒนาผลิตภัณฑ์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์” นำปัญหาวัตถุดิบตกเกรด เช่น ปลายข้าวหัก และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ครึ่งซีก หัก หรือป่น ซึ่งมีมูลค่าต่ำมาวิจัยพัฒนาแปรรูป และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ คุกกี้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เค้กกล้วยหอมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เครื่องดื่มน้ำข้าวผสมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
รวมถึงการถ่ายทององค์ความรู้ “เทคโนโลยีการพัฒนาอ่างบ่มอุณหภูมิสำหรับการเกษตรแปรรูปชุมชน” โดย วศ.อว. พัฒนาต้นแบบอ่างบ่มด้วยอุณหภูมิต่ำที่เหมาะสมกับเกษตรแปรรูปชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาอ่างบ่มที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมได้เอง โดยใช้วัสดุที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด เป็นเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร มีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์สะตอเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และการลดระยะเวลาในการดองไข่เค็ม
วศ.อว. มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและความสามารถของชุมชนและผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ในขณะนี้ ได้เน้นย้ำการสร้างความร่วมมือ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดกลไกความร่วมมือ เกิดการขยายผลอย่างครอบคลุมชุมชนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป