Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ประวัติ อุเทนถวาย

จากข่าวนักศึกษาปัจจุบัน รวมถึงศิษย์เก่า สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย รวมตัวคัดค้านกรณีศาลปกครองมีคำสั่งให้ย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีค่า นิวส์ เลยจะพามาทำความรู้จักกับ อุเทนถวาย ให้มากขึ้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (Rajamangala University of Technology Tawan-ok : Uthenthawai Campus) ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้น โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จึงโอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี พ.ศ. 2533 เป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ปัจจุบัน เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และ สถาปัตยกรรมศาสตร์

พิ้นที่ของ อุเทนถวาย ทำการเช่าที่ดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2478 มีการขอเจรจาคืนในปี 2518 มีแผนพัฒนา ศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืนในปี 2545 กรมธนารักษ์ มีการจัดหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายจำนวน 35 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กรมการบินพลเรือน และเป็นที่ราชพัสดุ ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

นอกจากนี้ ครม. ยังจัดสรรงบเพื่อก่อสร้างและขนย้าย 200 ล้านบาท อุเทนถวาย ทำข้อตกลงกับจุฬาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 จะขนย้ายและส่งมอบให้แก่จุฬา ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หากจำเป็นผ่อนผันได้ไม่เกิน 1 ปี ปี 2548 มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าอุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ บริเวณ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ จะย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า กระทั่ง ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง

ปี 2552 กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ส่วนผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และ ทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจาก อุเทนถวาย

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ อุเทนถวาย ย้ายออกจากพิ้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1052/2565) แต่ในปัจจุบัน ปี 2567 ก็ยังไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ ล่าสุด 27 ก.พ. 67 นักศึกษา-ศิษย์เก่า รวมตัวเดินขบวนยื่นหนังสือคัดค้าน โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขโฉนดที่ดินใหม่ ให้ยกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการศึกษาเท่านั้น เหตุหวั่นกลายเป็นพื้นที่พาณิชย์

ขอบคุณข้อมูล รูปภาพ วิกิพิเดีย, ไทยรัฐออนไลน์, วิทยาเขตอุเทนถวาย

Exit mobile version