กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (บท.) จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 193 ห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการต่างประเทศ จำนวน 2 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบในรายการ Oil and Grease in water (pilot study) น้ำมัน (Oil) และไขมัน (Grease) คือ
สารอินทรีย์จำพวกไขมันที่ส่วนมากละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ แต่จะไม่ละลายน้ำ โดยทั้งคู่มีไตรกลีเซอไรด์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งไตรกลีเซอไรด์ ประกอบด้วย ธาตุคาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน น้ำมันและไขมันนั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของกรดไขมันที่เป็นส่วนประกอบ โดยที่อุณหภูมิห้องน้ำมันมีสถานะเป็นของเหลว แต่ไขมันมีสถานะเป็นของแข็ง
นอกจากนี้ น้ำมันและไขมัน มีความสามารถในการละลายที่ต่ำ ส่งผลให้อัตราการย่อยสลายโดยธรรมชาติของจุลินทรีย์เกิดได้ช้ามาก น้ำมันที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดของเสียในครัวเรือน หากมีการบำบัดอย่างไม่เหมาะสม อาทิ ไม่มีบ่อดักไขมัน หรือระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของไขมันและน้ำมันในแหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรน้ำ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานในประเทศไทยได้กำหนดค่ามาตรฐาน ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง จากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนกำหนดปริมาณน้ำมันและไขมัน ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากการปนเปื้อนของน้ำมันและไขมันเกินกว่าปริมาณที่กำหนดอาจเกิดการสะสมในแหล่งน้ำ และสร้างผลกระทบโดยตรงต่อการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ กีดขวางการถ่ายเทออกซิเจนของแหล่งน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำเน่าเสีย
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ตระหนักถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จึงได้ส่งเสริมห้องปฏิบัติการ ด้านการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Oil and Grease in water (pilot study) เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ
- ทำให้ห้องปฏิบัติการมั่นใจในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง
- เพื่อยืนยันสมรรถนะและความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าของห้องปฏิบัติการ และยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
- ชี้บ่งปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาความสามารถของห้องปฏิบัติการ เช่น ปัญหาจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ การใช้เครื่องมือ หรือความสามารถของบุคลากร เป็นต้น
- เป็นประโยชน์ต่อห้องปฏิบัติการในการจัดการความเสี่ยง และเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการ
- ใช้ประกอบการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025