เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.จิราภรณ์ บุราคร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผน วศ. พร้อมทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือร่วมกับนายวราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์และแผนงาน และทีมงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเดินหน้าความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงงานบริการ ให้คำปรึกษา ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ การวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพสินค้า การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานวิธีวิเคราะห์ทดสอบเพื่อใช้อ้างอิงในการขอขึ้นทะเบียน อย. หรือบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงการส่งเสริมและรับรองห้องปฏิบัติการเครือข่ายในการขึ้นบัญชีห้องปฏิบัติการมาตรฐานและองค์กรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็ว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือการดำเนินงานบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและตอบโจทย์ความต้องการประชาชนอย่างทั่วถึง
การประชุมหารือในครั้งนี้ วศ. ได้นำเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการร่วม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อบูรณาการการดำเนินงานบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับความเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนกำกับติดตาม ประเมินผล และให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้หารือถึงกรอบความร่วมมือระหว่างปี 2567-2568 ที่เห็นพ้องกันว่าจะต้องดำเนินการที่ละขั้นตอนให้เป็นรูปธรรมภายใต้กลไกการขับเคลื่อนของคณะทำงานร่วม 2 ฝ่าย ประกอบด้วย 7 กรอบความร่วมมือ ได้แก่
- การเชื่อมโยงระบบการให้บริการ ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้สามารถเข้าถึงได้จากทั้ง อย. และ วศ. เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงบริการของทั้ง 2 หน่วยงาน
- การพัฒนาวิธีทดสอบในห้องปฏิบัติการ ตามข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ รองรับการยื่นผลทดสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด และ การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
- การให้คำปรึกษา ร่วมพัฒนาวิธีควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน วิธีวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ร่วมกับ ภาคเอกชน เพื่อบ่มเพราะผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมที่วิจัย พัฒนาขึ้นภายในประเทศ และผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน
- การส่งเสริม พัฒนาและรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการภาคเอกขน และภาครัฐ ให้ได้ตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนด ให้มีจำนวนเพียงพอรองรับการประกันคุณภาพ และ สร้างนวัตกรรมในประเทศ
- พัฒนาเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินเอกสารวิชาการ ในกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์
- พัฒนาระระบบสารสนเทศ เชื่อมโยงผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการ
- ร่วมพัฒนา/กำหนด “มาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพ” เพื่อเป็นข้อกำหนดในกฎหมาย
ทั้งนี้ในระยะแรกจะเน้นการเชื่อมโยงระบบการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพให้สามารถเข้าถึงได้ เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงบริการของจากทั้ง อย. และ วศ. โดยปัจจุบัน อย. มีระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ (e-Consult) ซึ่งเป็นระบบบริการให้คำปรึกษาและวินิจฉัยผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรม แก่ผู้ประกอบการ นักวิจัย หรือหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย ซึ่งจะเร่งดำเนินการเชื่อมโยงระบบกับ วศ. ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป