สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในรูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่มในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย หน่วยงานเดย์แคร์ เปิดให้บริการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สังคม ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้รับบริการนำศักยภาพที่เหลืออยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่สังคม และเน้นความสำคัญกับการให้ความรู้แก่ญาติและผู้ดูแลเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในตัวผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย และสามารถกลับไปทำที่บ้านได้อย่างเหมาะสม
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เมื่อร่างกายเริ่มเสื่อมลง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า การประสานสัมพันธ์ระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อลดลง สายตา การรับฟังก็เริ่มทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร กระดูกเริ่มมีการเปราะบางเกิดขึ้น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง และที่สำคัญหัวใจกับปอดก็เริ่มเสื่อมสภาพลง การทราบถึงความเปลี่ยนแปลงในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ที่เกิดจากโรคประจำตัวต่างๆ ร่วมด้วยนั้น จึงต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย เพื่อป้องกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง และคงสมรรถภาพทางกาย ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การออกกำลังกายจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสามารถช่วยให้ร่างกายของผู้สูงอายุนั้น มีความแข็งแรง และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการออกกำลังกายในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การออกกำลังกายเฉพาะส่วน เช่น การบริหารข้อไหล่ในผู้ป่วยโรคไหล่ติด การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าในกรณีข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น 2. การออกกำลังกายโดยทั่วไป ซึ่งจะมีผลทำให้สุขภาพจิตดี ร่างกายแข็งแรง และทำให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น สิ่งที่จำเป็นก่อนออกกำลังกายผู้สูงอายุจะต้องมีการตรวจประเมินร่างกายและสัญญาณชีพก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย เพราะคนที่มีอายุมากขึ้นมักจะมีโรคประจำตัวซ่อนเร้นอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้สูงอายุขณะออกกำลังกาย ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่ว่าจะออกกำลังกายไม่ได้ แต่สามารถออกกำลังกายได้โดยอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของนักวิชาชีพ พร้อมกับได้รับการตรวจสมรรถภาพทางกายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล หน่วยงานเดย์แคร์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องกิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่มในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย โดยการออกกำลังกายตามรูปแบบที่เหมาะสมที่นักวิชาชีพประเมิน ซึ่งเป็นท่าออกกำลังกายในรูปแบบทำตามได้ง่าย เน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแล เพื่อฟื้นฟูอย่างครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สังคม ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้รับบริการนำศักยภาพที่เหลืออยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่สังคม