Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรมวิทย์ฯ บริการ เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ทางด้านแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อัตโนมัติ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการกองวัสดุวิศวกรรม นางจันทรัตน์ วรสรรพวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ นางเยาวลักษณ์ ชินชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ และคณะเดินทางจำนวนกว่า 18 คน ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษากิจการของกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ณ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน บริษัท อมิตา เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ณ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด) ณ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ทางด้านแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อัตโนมัติ ปัจจุบันความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนในระบบขนส่ง ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ในอนาคตคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 7% เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีการขยายตัวของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น ในระดับภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก เช่น แบตเตอรี่ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มรายได้ของประเทศ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าวฯ

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ได้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ การวิเคราะห์ทดสอบและรับรองคุณภาพวัตถุดิบตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตขั้วแคโทด ขั้วแอโนด และสารอิเล็กโทรไลต์ด้วยเทคนิคขั้นสูงทางด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาแนวทางบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วแบบครบวงจรอีกด้วย

Exit mobile version