วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้มอบหมายให้กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ (พศ.) นำโดยผู้อำนวยการกองฯ ดร.ภูวดี ตู้จินดา เป็นประธานในการต้อนรับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร ภาควิชาเคมี มทร.ธัญบุรี เข้าร่วมศึกษาดูงานและหารือ เรื่อง “การอบรมและยกระดับห้องปฏิบัติการ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและยกระดับคุณภาพห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งการหารือครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ อาทิ แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ การจัดการความปลอดภัย และการบริหารจัดการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการในอนาคต
สอดคล้องกับนโยบายของ นายแพทย์รุ่งเรือง อธิบดี วศ. ที่กล่าวว่า “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในระยะยาว” นอกจากนี้ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยที่มีคุณภาพในอนาคต การศึกษาดูงานครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยต่อไป
ในระหว่างการศึกษาดูงาน คณะผู้บริหาร คณะอาจารย์และบุคลากร จาก มทร.ธัญบุรี ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านน้ำของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 การควบคุมคุณภาพผลการทดสอบ และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตรวจวัดสารปนเปื้อนในน้ำดื่มและน้ำเสีย การวิเคราะห์โลหะหนัก นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และได้หารือถึงโอกาสในการจัดฝึกอบรมร่วมกันในอนาคต ไม่เพียงแค่เสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับความร่วมมือทางวิชาการในระยะยาว พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน