Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“เพราะนวัตกรรมคือหัวใจของการพัฒนา” ทำความรู้จัก ‘หน่วยบ่มเพาะนวัตกรรม’ อีกแห่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พร้อมจะเปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กำลังก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนวัตกรรมระดับประเทศ ด้วยการผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่ครบวงจรภายในมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการนำผลงานไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงเกิดเป็น สำนักบริหารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สบน.มช.) : IMO Innovation Management Office แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘หน่วยบ่มเพาะนวัตกรรม’ อีกแห่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เพราะนวัตกรรมคือหัวใจของการพัฒนา” ทำความรู้จัก ‘หน่วยบ่มเพาะนวัตกรรม’ อีกแห่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พร้อมจะเปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้

ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ ผู้อำนวยการสำนักบริหารนวัตกรรม เผยถึงภารกิจของ สบน. ในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงงานวิจัยของมช. กับโลกแห่งการพาณิชย์เข้าด้วยกัน โดยมีพันธมิตรหลักอย่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สนับสนุนการบริหารจัดการและส่งเสริมศักยภาพการทำงาน ซึ่ง STeP นั้นมีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว นั่นคือการนำงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และกระบวนการ Commercialization หรือการนำผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดได้ดีมากยิ่งขึ้น ในทางเดียวกันนี้ สบน. ยังได้สร้างระบบการยกระดับศักยภาพของงานวิจัยจากมช. อย่างครบวงจร เพื่อเป็นแรงหนุนซึ่งกันและกัน

“สบน. มองเห็นความท้าทายของการขับเคลื่อนนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยว่า งานวิจัยที่มีผลกระทบสูงมักเกิดจากการมองเห็นปัญหาสำคัญระดับโลก” ณ วันนี้ต้องยอมรับว่างานวิจัยของ มช. ที่มุ่งแก้ปัญหาระดับโลกยังมีจำนวนไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยในสเกลขนาดเล็ก หรือขอบเขตจำกัด เช่น การเทคโนโลยีทดแทนการนำเข้า หรือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามทั่วไป สบน.จึงมีเป้าหมายในการผลักดันให้นักวิจัยมองเห็นถึงแก่นแท้ของปัญหาและอยากจะแก้ไขปัญหาระดับโลกอย่างมหาศาล และในอีกมิติสำคัญที่ถือเป็นความท้าทายของสบน. คือ การมองตลาดของภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนจำนวนน้อยที่มองตลาดในระดับโลกทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุน เนื่องจากขนาดของตลาดที่เอกชนมองเห็นนั้นย่อมมีผลต่อความกล้าตัดสินใจในการลงทุน ส่งผลให้มูลค่าการจดลิขสิทธิ์ (License) งานวิจัยไม่สูงนัก

ความสำเร็จที่มาจากการมองเห็นปัญหา จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างจุดแข็งของ สบน. ด้วยสัญญาณความสำเร็จหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยและการสร้างความเชื่อมโยงระดับนานาชาติ ซึ่งสบน. ได้ดำเนินการอัพเกรดคุณภาพงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือมีจำนวนโครงการวิจัยกว่า 10 โครงการ ที่สามารถเชื่อมโยงกับพันธมิตรในต่างประเทศ พร้อมทั้งมีแผนการดำเนินงานระดับโลก (Global Roadmap) อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการยกระดับงานวิจัยสู่มาตรฐานสากล ทั้งการผลักดันให้นักวิจัยสามารถนำผลงานไปสู่ตลาดต่างประเทศจากการส่งเสริมการจดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกลยุทธ์นี้ยังจะช่วยรองรับการขยายตลาด สร้างพันธมิตรระดับนานาชาติ และสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของงานวิจัยได้อีกด้วย

และเมื่อไม่นานนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกด้านนวัตกรรม หรือ WURI (World University Rankings for Innovation) เพื่อเชิดชูสถาบันอุดมศึกษาที่โดดเด่นในการใช้แนวทางเชิงนวัตกรรม จากการคัดเลือกโครงการที่มีศักยภาพส่งเข้าประกวด โดย สบน. ซึ่ง มช. สามารถคว้ารางวัลอันดับ 3 ของโลก ด้าน Student Support & Engagement ในโปรแกรม “Token to Care เงินหาย เงินหมด อย่าอดข้าว” โดยกองพัฒนานักศึกษา มช. และตามมาด้วยอันดับ Top 100 ในอีกทั้ง 2 ด้าน กับอันดับที่ 18 ด้าน Funding ในโปรแกรม CMU Change Agents for Sustainability โดยสำนักงานบริหารงานวิจัย มช. และอันดับที่ 46 ด้าน Entrepreneurial Spirit ในโปรแกรม Basecamp24 โดยอุทยานวิทย์ มช. (STeP)

การเดินทางของ สบน. ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของการมองเห็นปัญหาและการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย จากจุดเริ่มต้นที่มุ่งแก้ไขข้อจำกัดของงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัย สู่การสร้างผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นส่วนการันตีให้เห็นถึงการวางกลยุทธ์อย่างครอบคลุมและเป็นระบบของ สบน. ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการพัฒนาผลงานวิจัย แต่เป็นการสนับสนุนนักวิจัยผ่านการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ครบวงจร ดั่งต้นกล้าแห่งนวัตกรรมที่เติบโตแข็งแรง ที่พร้อมแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต่อไป

สำหรับนักวิจัย หรือผู้ที่สนใจจะพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรม IMO พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันไอเดียของคุณสู่นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://imo.cmu.ac.th/contact.php หรือสามารถแวะมาพูดคุยได้ที่อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

Exit mobile version