การอุดตันของท่อระบายน้ำ สามารถพบได้ในทุกครัวเรือน ซึ่งแน่นอนว่ามีแนวทางการแก้ไขหลากหลายวิธี แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขการอุดตันของท่อนนั้นควรพิจารณาเลือกอย่างปลอดภัย โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อจัดเป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของ อย. ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แนะนำให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าต้องทำตาม ดังนี้
- หากมีสารสำคัญเป็นสารกลุ่มกรด เช่น กรดซัลฟูริก จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าต่อ อย.
- ฉลากของผลิตภัณฑ์จะต้องระบุเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบ อย. /วอส. ชื่อการค้า ชื่อ และอัตราส่วนของสารสำคัญ วิธีใช้ คำเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวัง รูปสัญลักษณ์และข้อความแสดงความเป็นอันตรายของผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ หากผู้ผลิตหรือนำเข้าที่ไม่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือไม่ขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า รวมทั้งไม่แสดงฉลาก หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงผู้ขายวัตถุอันตรายดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย. อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของผลิตภัณฑ์และผู้จำหน่าย
ในการใช้ผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ ต้องพิจารณาหัวข้อการ ดังนี้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้วเท่านั้น
- สังเกตที่เลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย อย./วอส.
- สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าขึ้นทะเบียนถูกต้อง หรือตรวจสอบการอนุญาตผ่านเว็บไซต์
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาว และน้ำยาล้างห้องน้ำ ไม่ควรนำมาผสม หรือเทรวมกัน หรือใช้ผลิตภัณฑ์สองชนิดในเวลาเดียวกันโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสารพิษ ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ ผู้ใช้ต้องปฏิบัติตามคำเตือนและข้อแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และห้ามนำไปใช้ร่วมหรือผสมกับผลิตภัณฑ์อื่น เพราะสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาจทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นก๊าซพิษ เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้