Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชื่อเล่น เต้น เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2518 ปัจจุบันอายุ 49 ปี ภูมิลำเนาเป็นคนอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนสุดท้องของสำเนา และปรียา ใสยเกื้อ มีพี่ชาย ชื่อ เจตนันท์ ใสยเกื้อ

เขาจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต จากนั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการภาครัฐและเอกชนสำหรับผู้บริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 

ชีวิตครอบครัว ณัฐวุฒิ สมรสกับ แก้ม สิริสกุล ใสสะอาด มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน และบุตรสาวอีก 1 คน

ณัฐวุฒิ เริ่มมีชื่อเสียงในวงการนักพูด ด้วยการเป็นนักโต้วาทีผู้แทนโรงเรียน ต่อมาจึงเริ่มต้นอาชีพนักพูด โดยเป็นนักอบรมการพูด กับบริษัท อดัมกรุ๊ป จำกัด ของอภิชาติ ดำดี จากนั้นก็ร่วมโต้วาทีในรายการทีวีวาทีทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เป็นบางโอกาส และเป็นดาราประจำรายการสภาโจ๊ก และรัฐบานหุ่นทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยเป็นเงาเสียงของไตรรงค์ สุวรรณคีรี

ณัฐวุฒิ เริ่มเล่นการเมือง โดยเข้าสังกัดพรรคชาติพัฒนา และลงสมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 จากการชักชวนของธีรศักดิ์ นาคแก้ว ผู้เป็นน้าชาย แต่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง โดยพ่ายแพ้คู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์เพียง 4,000 เสียง

ต่อมา ณัฐวุฒิ เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย ต่อมา พรรคคัดเลือกให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 และได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายนขึ้นเสียก่อน

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ณัฐวุฒิ ร่วมกับวีระ มุสิกพงศ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ เดินทางมาพบกันยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อแถลงข่าวต่อต้านการรัฐประหาร ต่อมาช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 สถานีโทรทัศม์พีทีวีถูกปิดกั้นสัญญาณดาวเทียม จนไม่สามารถออกอากาศได้ ผู้บริหารและผู้จัดรายการจึงออกมาปราศรัยที่ท้องสนามหลวง จนกระทั่งร่วมกับหลายองค์กรประชาธิปโดยภาคประชาชน จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรหลัก ภายใต้ชื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จกการ (นปก.) ในเวลาต่อมา โดยณัฐวุฒิเข้ารับต่าแหน่งเป็นแกนนำคนหนึ่ง และขึ้นปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จลานนท์ มาโดยตลอด

ราวกลางปี พ.ศ. 2550 ณัฐวุฒิ เข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 8 พื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2551 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น รองโฆษกประจ่าส่านักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่นำโดยสมัคร สุมทรเวช และหลังจากที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ณัฐวุฒิ ก็ได้รับการแต่งตั้งตั้งเป็น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดนี้

หลังจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์สิ้นสุดลง นปก.จึงเปลี่ยนชื่อองค์กรใหม่เป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อย่อเป็น นปช. โดย ณัฐวุฒิ ยังเป็นแกนนำอยู่ตามเดิม และหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ณัฐวุฒิ ถูกควบคุมตัว พร้อมกับวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และแกนนำคนอื่น ๆ ในข้อหาก่อการร้าย

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ณัฐวุฒิ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และเป็นที่คาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดูแลสื่อมวลชน) แต่ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม กลับไม่มีชื่อของณัฐวุฒิในตำแหน่งใด ๆ ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 19[

ณัฐวุฒิ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2) เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 แทนนายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ครม.ยิ่งลักษณ์ 3)

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ณัฐวุฒิ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 7 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง

กระทั่ง ในปี พ.ศ. 2565 ณัฐวุฒิ ได้ย้ายกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โดยแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัว ได้จัดงานเปิดตัวณัฐวุฒิที่ The Jam Factory เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยมีบทบาทสำคัญคือการทำหน้าที่ผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งขึ้นปราศรัยโจมตีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติมาโดยตลอด แต่หลังจากพรรคเพื่อไทยนำพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล ณัฐวุฒิได้ประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ซึ่งหลังจากพายุหมุนทางการเมืองเดือดดาลช่วงเลือกตั้งต้นปี 2566 ณัฐวุฒิ ประกาศวางมือจากงานที่พรรคเพื่อไทยหันมาจับงานในร้านอาหารปักษ์ใต้ของครอบครัวอย่างจริงจัง  ชื่อ ร้านเยี่ยมใต้ South Cuisine ตั้งอยู่ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 

แต่ล่าสุด วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 แพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้งให้ ณัฐวุฒิ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อ่านเพิ่มเติม >> แต่งตั้ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

ขอบคุณข้อมูล วิกิพิเดีย

ขอบคุณภาพ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

Exit mobile version