Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

อาการโรคไอกรน เป็นแบบไหน ป้องกันได้อย่างไร ส่องที่นี่!

จากกรณีประกาศโรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน พบนักเรียนป่วย โรคไอกรน ก่อนจะกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการสั่งปิดเรียน 2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ปกครองและคนในสังคมตื่นตระหนก เป็นกังวลว่าอาจจะเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่หรือไม่ โดยล่าสุด กรมควบคุมโรคออกมาชี้แจงว่ากรณีนี้จะเป็นเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 แต่ ม.5 จะมากที่สุด ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีผู้ป่วยประมาณ 20 ราย ขณะนี้กำลังสอบสวนโรคอยู่ว่า ติดจากไหน มีใครป่วยบ้าง ทั้งสอบสวนโรคทั้งโรงเรียน และบ้าน ทั้งนี้ มีบางส่วนแพร่เชื้อให้ในบ้าน แต่ไม่มาก ยังต้องติดตามต่อเนื่อง (ข่าวอัพเดทล่าสุด 13 พ.ย. 67) มีค่า นิวส์ จึงจะชวนมาทำความรู้จักกับ อาการโรคไอกรน เป็นแบบไหน และจะ ป้องกันได้อย่างไร

โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษ คือ ไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการไอเป็นแบบ paroxysmal

การระบาด
ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกรายโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มาก โรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดโรค

อาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะแรก Catarrhal stage จะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดา อาจมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้ง ๆ

2.ระยะ Paroxysmal stage ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุด ๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองบางครั้งอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทัน และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วย จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้

3.ระยะฟื้นตัว Convalescent stage กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุด ๆ จะค่อย ๆ ลดลง ทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมด ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน จะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

การรักษา จะรักษาตามอาการ ใช้ยาปฏิชีวนะในระยะแรกของโรค เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ทั้งนี้ ควรพักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟควันบุหรี่ อากาศที่ร้อน หรือเย็นจัดเกินไป

การป้องกัน การฉีดวัคซีนป้องกันเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการป้องกันโรคไอกรน โดยมักฉีดในวัคซีนรวมกับโรคอื่น ๆ เช่น วัคซีน DTP (คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก) ซึ่งเด็กเล็กจะต้องได้รับวัคซีนนี้ตามตารางการฉีดวัคซีน

ขอบคุณข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Exit mobile version