เผยแพร่แล้ว คู่มือ มิชลิน ไกด์ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 (The MICHELIN Guide Thailand 2025) บุคลากรในแวดวงอาหารของไทยร่วมฉลองความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ หลังจาก ศรณ์ ได้รับการประกาศชื่อเป็นร้านอาหารที่คว้ารางวัลระดับ สามดาวมิชลิน อันทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จเป็นร้านแรกในไทย ทั้งนี้ ภายในงาน นอกจากจะมีการเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารทั้งหมดที่ผ่านการคัดสรรให้ตีพิมพ์ลงในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดแล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัลและฉลองความสำเร็จให้กับบุคลากรและทีมงานร้านอาหารที่ได้รับรางวัล ดาวมิชลิน และรางวัลพิเศษอื่น ๆ อีกด้วย อ่านต่อ >> MICHELIN STAR คือ
คู่มือฉบับปีล่าสุดนี้ บรรจุรายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรร รวมทั้งสิ้น 462 แห่ง เป็นร้านที่ได้รับรางวัล สามดาวมิชลิน 1 ร้าน (เลื่อนระดับจาก สองดาวมิชลิน), รางวัล สองดาวมิชลิน 7 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ 1 ร้าน), รางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ 28 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 4 ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 1 ร้าน), รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ 156 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 20 ร้าน) และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected อีก 270 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 44 ร้าน) โดยในจำนวนร้านใหม่ที่ติดอันดับครั้งแรกในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 8 ของไทย เป็นร้านที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่ง ‘มิชลิน ไกด์’ ขยายขอบเขตเข้าดำเนินการสำรวจและจัดอันดับเป็นปีแรก รวมทั้งสิ้น 20 ร้าน (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 5 ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected 15 ร้าน)
เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก กล่าวแสดงความเห็นว่า “การที่ประเทศไทยมีร้านอาหารได้รับรางวัล ‘สามดาวมิชลิน’ เป็นร้านแรก ทำให้ปี 2568 เป็นปีสำคัญของไทยในหน้าประวัติศาสตร์แวดวงอาหารระดับสากล รายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนความรุ่มรวยและหลากหลายของอาหารไทย แต่ยังแสดงให้เห็นว่าศาสตร์และศิลป์ด้านอาหารการกินของไทยโอบรับวัฒนธรรม ความทันสมัย และเทรนด์ใหม่ ๆ เอาไว้อย่างลงตัว”
แนวโน้มและทิศทางวงการอาหารของไทยจากการสำรวจโดยผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์
จากการเปิดเผยของ มร.ปูลเล็นเนค ผู้ตรวจสอบของ ‘มิชลิน ไกด์’ พบว่ามีร้านอาหารไทยสไตล์โมเดิร์นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารเหล่านี้ดำเนินการโดยเชฟผู้มีความสามารถชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เคยผ่านประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ และ/หรือ ศึกษาศาสตร์การทำอาหารสไตล์ตะวันตก โดยเชฟเหล่านี้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจร้านอาหารในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเสนออาหารไทยดั้งเดิมในรูปแบบที่ทันสมัยและดูน่าสนใจ ส่งผลให้ “อาหารไทยร่วมสมัย” ก้าวข้ามขีดจำกัดที่มีอยู่เดิม
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมร้านอาหารหรูประเภท ‘ไฟน์ ไดนิ่ง’ (Fine Dining) ในไทย ยังดึงดูดเชฟชาวต่างชาติจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเชฟท้องถิ่น และมีบทบาทในการฝึกฝนทีมงานร้านอาหารรุ่นใหม่ อีกทั้งประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการจัดหาวัตถุดิบภายในท้องถิ่นยังได้รับความสนใจแพร่หลายมากขึ้นในไทย โดยเชฟใส่ใจเลือกใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นมากขึ้นและประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวโน้มดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้เชฟท้องถิ่นริเริ่มนำเสนอสิ่งใหม่และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม
ยิ่งกว่านั้น ยังเห็นได้ชัดว่ามีภัตตาคารสไตล์เรียบง่ายและร้านอาหารขนาดเล็กจำนวนหนึ่งถ่ายทอดสูตรอาหารจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวและรสชาติดั้งเดิมเอาไว้ ภัตตาคารและร้านอาหารประเภทดังกล่าวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่สามารถหาอาหารคุณภาพเยี่ยมหลากรูปแบบทานได้ในราคาสบายกระเป๋า
‘ศรณ์’ สร้างประวัติศาสตร์ คว้า ‘สามดาวมิชลิน’ มาครองเป็นร้านแรกในไทย
ศรณ์ …ร้านอาหารใต้ที่ถ่ายทอดศิลปะการปรุงอาหารผ่านฝีมืออันเป็นเลิศ ตลอดจนการผสมผสานอย่าง ลงตัวระหว่างตำรับโบราณและนวัตกรรมสมัยใหม่ ทุกจานรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต พิถีพิถัน และลุ่มลึก นำเสนอประสบการณ์การรับประทานที่น่าตื่นเต้นและกลมกล่อมอย่างไม่มีที่ติ… ก้าวสู่การเป็นร้านอาหารระดับตำนานในฐานะที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดระดับ ‘สามดาวมิชลิน’ มาครองเป็นร้านแรกในประเทศไทย
ศรณ์ ได้รับการจัดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2562 เป็นครั้งแรก โดยได้รับรางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ เพียงหนึ่งปีต่อมาก็ได้รับการเลื่อนระดับเป็นร้าน ‘สองดาวมิชลิน’ และสามารถครองสถานะระดับ ‘สองดาวมิชลิน’ เอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปี การก้าวขึ้นคว้ารางวัลระดับ ‘สามดาวมิชลิน’ ได้ในคู่มือฯ ฉบับปี 2568 นับเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นเลิศ คุณภาพ และความสม่ำเสมอ ที่ส่งผลให้ ศรณ์ เปลี่ยนสถานะจากร้านอาหารยอดเยี่ยมที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม กลายเป็นสุดยอดร้านอาหารที่ควรค่าแก่การเป็นจุดหมายปลายทางที่ควรดั้นด้นเดินทางเพื่อไปชิมสักครั้ง
รางวัล ‘สองดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มหนึ่งแห่ง คือ ‘โค้ท บาย เมาโร โคลาเกรคโค’
ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 มีร้านอาหารคว้ารางวัลระดับ ‘สองดาวมิชลิน’ เพิ่มขึ้นเพียงร้านเดียว โดยได้รับการเลื่อนระดับจาก ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ คือ โค้ท บาย เมาโร โคลาเกรคโค ร้านอาหารที่นำเสน่ห์แห่งรสชาติจากเฟรนช์ริเวียราสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผสานกลิ่นอายจากเมดิเตอร์เรเนียน ฝรั่งเศส และอิตาลี ทุกจานอาหารรังสรรค์ด้วยเทคนิคอันล้ำสมัยจากวัตถุดิบตามฤดูกาลที่ดีที่สุดในแต่ละวันเพื่อสร้างสรรค์เมนูอันเป็นเอกลักษณ์
สำหรับร้านอาหาร บ้านเทพา, เชฟส์เทเบิล, กา, เมซซาลูน่า, อาหาร และซูห์ริง ยังคงครองสถานะ ‘สองดาวมิชลิน’ เอาไว้ได้ ทำให้ประเทศไทยมีร้านระดับ ‘สองดาวมิชลิน’ จำนวนทั้งสิ้น 7 ร้าน
รางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้น 5 ร้าน
สำหรับรางวัล ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ ซึ่งมีร้านใหม่ติดโผ 5 ร้าน ในจำนวนนี้ 4 ร้านได้รับการจัดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย เป็นครั้งแรก ส่วนอีก 1 ร้านได้รับการเลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected
ร้านใหม่ระดับ ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ ที่ติดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย เป็นครั้งแรก ได้แก่ อัคคี ร้านอาหารที่สร้างความประทับใจด้วยเมนูอาหารไทยรสจัดจ้านจากภูมิภาคต่าง ๆ เสิร์ฟในบรรยากาศสุดพิเศษท่ามกลางแสงสลัว ใช้เทคนิคการทำอาหารที่พิถีพิถันในครัวที่เรียบง่าย โดยปรับสูตรอาหารไทยคลาสสิกให้เข้ากับวัตถุดิบตามฤดูกาล ทำให้อาหารมีเอกลักษณ์และรสชาติที่ชัดเจน, เอวองท์ ร้านอาหารที่เชฟชาวสิงคโปร์รังสรรค์อาหารโดยผสานเทคนิคดั้งเดิมและสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว และพิถีพิถันในทุกรายละเอียด, โกท ร้านอาหารที่ผสมผสานองค์ประกอบของอาหารไทย จีน และตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาดภายใต้แนวคิดฤดูกาลของไทย โดยใช้ทั้งสมุนไพรที่ปลูกในร้านและวัตถุดิบจากทั่วประเทศไทย และ อาวลิส ร้านอาหารสไตล์ “เชฟส์ เทเบิล” ที่นำเสนอเทสติงเมนูหลายคอร์สจากวัตถุดิบท้องถิ่นของไทยและเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดาร้านใหม่ติดอันดับ ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ มี 2 ร้านที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร คือ อัคคี ในจังหวัดนนทบุรี และ อาวลิส ในจังหวัดพังงา
ร้านใหม่ระดับ ‘หนึ่งดาวมิชลิน’ ที่เลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected เพียงหนึ่งเดียว คือ โคด้า ร้านอาหารที่เชิดชูแก่นแท้ของอาหารไทยท้องถิ่น พร้อมผสมผสานเทคนิคสมัยใหม่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ทุกเทสติงเมนูรังสรรค์อย่างประณีต อัดแน่นไปด้วยรสชาติที่ละเอียดอ่อนและมีมิติอย่างล้ำลึก
รางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้นหนึ่งร้าน คือ ‘บ้านเทพา’
นอกจาก พรุ, ฮาโอมา และ จำปา ซึ่งครองรางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” ที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งดำเนินกิจการและมีแนวปฏิบัติประจำวันด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีร้านอาหารร่วมครองรางวัลนี้อีก 1 ร้านในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 ได้แก่ บ้านเทพา ร้านอาหารไทยร่วมสมัยที่เชฟและทีมงานไม่เพียงทุ่มเทใส่ใจในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ปลูกสมุนไพรและดอกไม้กินได้ในสวนหลังร้าน, เลือกใช้วัตถุดิบจากผู้ผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ย ตลอดจนรังสรรค์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ แต่ยังริเริ่มโครงการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมของเชฟและทีมงานยังคงแข็งแกร่งแม้ต้องฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากจึงสมควรได้รับการยกย่องในความมุ่งมั่นอุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อม
รางวัลพิเศษ 4 รางวัล
ปัจจุบัน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย มอบรางวัลพิเศษรวม 4 รางวัล ให้กับบุคลากรมืออาชีพจากร้านอาหารที่ติดอันดับในคู่มือฯ ซึ่งมีความสามารถโดดเด่นและมีบทบาทในการยกระดับประสบการณ์ด้านอาหารให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมด้านอาหารและบริการเป็นที่น่าสนใจและน่าทำงานด้วย
- รางวัล MICHELIN Guide Young Chef Award
MICHELIN Guide Young Chef Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดย “บลองแปง” (Blancpain) แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ รางวัลนี้มอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ที่แสดงศักยภาพโดดเด่นตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ด้วยคุณสมบัติและทักษะความสามารถในการรังสรรค์อาหารอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ “อู๋” สิทธิกร จันทป เชฟและเจ้าของร้านอัคคี ด้วยความหลงใหลในอาหารไทยแบบดั้งเดิม เชฟอู๋เลือกใช้วัตถุดิบหายากมาปรุงอาหารและจัดจานอย่างสวยงาม สะท้อนทักษะความเชี่ยวชาญ เอกลักษณ์เฉพาะตัว และผสานความทันสมัยเอาไว้อย่างลงตัว ซึ่งผู้ตรวจสอบของ ‘มิชลิน ไกด์’ ชื่นชมและรอดูการนำอาหารไทยต้นตำรับ ไปสู่มิติใหม่ ๆ ในอนาคต - รางวัล MICHELIN Guide Opening of the Year Award
MICHELIN Guide Opening of the Year Award เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารยูโอบี (UOB) มอบให้กับบุคลากรและทีมงานซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารใหม่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีแนวคิดที่โดดเด่นในการนำเสนออาหารอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากวงการอาหารในประเทศ สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ ดิมิทริออส มูดิออส (Dimitrios Moudios) เชฟและเจ้าของร่วม (Co-Owner Chef) ของร้าน Ōre ร้านอาหารบรรยากาศสุดมินิมัลที่นำเสนอประสบการณ์การรับประทานอาหารที่น่าจดจำผ่านเมนูสร้างสรรค์ 30 คอร์ส ซึ่งประกอบด้วยวัตถุดิบหายากและวัตถุดิบที่ผ่านการหมัก รังสรรค์ด้วยเทคนิคการปรุงอาหารหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ได้รสชาติที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว - รางวัล MICHELIN Guide Service Award
MICHELIN Guide Service Award เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบให้สุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การทานอาหารที่ยอดเยี่ยม สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ ยุพา สุขเกษม ผู้จัดการร้านบ้านเทพา ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานถึง 6 ปี จากการทำงานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คุณยุพาให้บริการอย่างมืออาชีพด้วยความใส่ใจ การให้บริการของเธอและทีมงานสร้างความประทับใจให้กับทีมผู้ตรวจสอบของ ‘มิชลิน ไกด์’ และทำให้การรับประทานอาหารเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ - รางวัล MICHELIN Guide Sommelier Award
MICHELIN Guide Sommelier Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับ “ซอมเมอลิเยร์” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยให้บริการอย่างมืออาชีพ และมีความชำนาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับไวน์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงการจับคู่ไวน์กับเมนูอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ด้านอรรถรสสูงสุด โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2568 คือ ฐานสิทธิ์ วาสินนท์ จากร้าน โค้ท บาย เมาโร โคลาเกรคโค ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ ด้วยประสบการณ์ 4 ปี ในสายงานด้านซอมเมอลิเยร์ คุณฐานสิทธิ์มีความเป็นมืออาชีพและรู้จริงในการนำเสนอและแนะนำไวน์ การให้คำแนะนำอย่างมั่นใจแต่สุภาพอ่อนน้อมอยู่ในที ทำให้ลูกค้าเพลิดเพลินไปกับการลิ้มลองรสชาติไวน์อย่างได้อรรถรสเต็มเปี่ยม