กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิด โดยให้ทุกคนสวมใส่เเมสก์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกจากบ้าน ใช้แอปพลิเคชันเช็กคุณภาพอากาศ อาทิ Air4Thai AirBKK หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่น ลดการทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงนี้ พร้อมแนะวิธีปฏิบัติรับมือและป้องกันฝุ่น PM 2.5 ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม >> ขึ้นรถไฟฟ้า BTS MRT รถเมล์ ขสมก. ฟรี ลดฝุ่น PM2.5 นาน 7 วัน 25-31 ม.ค. 68
1.ควรติดตามข่าวสาร หรือ ใช้แอปพลิเคชันตรวจสอบคุณภาพอากาศอยู่เสมอ
2.หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น หากจำเป็นควร สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน พร้อมเปลี่ยน หน้ากากอนามัยทุกวัน เพื่อช่วยซับกรองและป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย
3.สวมแว่นตาเพื่อป้องกันการระคายเคืองตา
4.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ควรออกกำลังกายและทำงานในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก
5.ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ป้องกันการเล็ดลอดของฝุ่นเข้ามาในอาคารบ้าน
6.หมั่นทำความสะอาดบ้านไม่ให้ฝุ่นเข้ามาสะสม
7.ติดตั้งระบบเครื่องกรองอากาศในที่อยู่อาศัย โดยเลือกใช้แบบที่ถอดล้างได้ เพื่อลดผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย
8.ดูแลกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และภูมิแพ้ ผู้ทำงานกลางแจ้ง
9.หากมีอาการผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที หรือสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการเคืองตา แสบจมูก แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบากให้รีบพบแพทย์
10.พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มาก รับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
11.ลดการเผาทุกประเภทที่ทำให้เกิดควัน ลดปริมาณการใช้รถที่ทำให้เกิดภาวะฝุ่นควัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักการเกิดภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ขณะที่นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง วิธีป้องกันทำได้ดังนี้
1.กลุ่มเสี่ยง ควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
2.ควรอยู่ในอาคาร/บ้าน เพื่อลดการรับฝุ่นโดยตรง
3.หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัย
4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและการทำงานกลางแจ้งในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง
5.ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นจากภายนอก
6.ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ บรรเทาอาการระคายเคืองคอ แสบคอ
7.หลีกเลี่ยงเผาขยะในที่โล่งแจ้งเพื่อลดมลพิษในอากาศ
8.ลดการใช้รถยนต์ลดการก่อมลพิษในอากาศ
9.ลดการสูบบุหรี่ลดการก่อมลพิษในอากาศ
ขอบคุณภาพ ข้อมูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM