Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

วว. ชู 4 กลยุทธ์ SIEN พุ่งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 โดย สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า จะเติบโตอยู่ในช่วง 2.3-3.3% ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567 แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้านที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการผลักดันภาคส่งออกให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ยังต้องขับเคลื่อนการลงทุนโดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  (วทน.)  โดยมีนโยบายสำคัญ 4  ด้าน ประกอบด้วย

1.พัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต

2.ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก

3.พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต 

4.พัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ทั้งสถาบันการศึกษา  หน่วยงาน วิจัย จะนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ดังนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง อว. จึงได้จัดการประชุมระดมความคิด หน่วยงานกำกับดูแล พันธมิตรคู่ความร่วมมือ ลูกค้า คู่ค้า คู่เทียบ ชุมชน สังคม และสื่อมวลชน ร่วมกำหนด “บทบาทการดำเนินงานของ วว. ในอนาคต” พร้อมชู 4 กลยุทธ์ SIEN เป็นแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรในระยะเวลา 4 ปี  เพื่อนำ วทน. ไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตยั่งยืน ภายใต้แผนวิสาหกิจ พ.ศ. 2568– 2571 มีขอบเขตประเด็นระดมความคิดเห็นในการทบทวน ได้แก่ การทบทวนวิสัยทัศน์  เป้าหมาย  พันธกิจ  ยุทธศาสตร์  กลยุทธ์ ผลงานและบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Technology Roadmap) ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัย บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี   เพื่อรองรับการวิจัยและให้บริการกับภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อเสริมแกร่ง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ประเทศไทยเติบโตทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ( 23  มกราคม 2568 ณ  โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ)

โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศุภชัย  ปทุมนากุล  ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิด ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า  อว. มอบหมายให้ วว. เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ชุมชนและประเทศชาติ รวมทั้งเสริมให้ วว. มีบทบาทสร้างเยาวชนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านธุรกิจควบคู่กัน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสิ่งที่เป็นนโยบายหลักของกระทรวง อว. คือ ต้องมีการวางแผนที่จะ spin off  มี joint KPI ทำร่วมกัน เช่น วว. อาจมีร่วมกับสถาบันวิจัย หน่วยงานภาคเอกชน มหาวิทยาลัย มีแผนที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจอย่างไร ช่วย SMEs  โดยจะวัดร่วมกัน รวมถึงการผลิตกำลังคนด้วย ซึ่งประเทศไทยมีการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) จำนวนมาก  จำเป็นต้องผลิตคนที่มีทักษะสูงร่วมกับมหาวิทยาลัยในการผลิตคนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในปีนี้ให้ได้  รวมทั้งการทำ Tech transfer และ Tech spin off ต้องอยู่ในแผนดำเนินงานเพื่อสร้างธุรกิจที่เกิด impact กับประเทศให้ได้ คณะบอร์ดของ วว. มีนโยบายกำกับทิศทางการดำเนินงานในช่วงปี 2567-2568 ดังนี้

1.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศ

2.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

3.เร่งการพัฒนาบริการวิเคราะห์ทดสอบมูลค่าสูงที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อลดการส่งวิเคราะห์ทดสอบต่างประเทศของผู้ประกอบการ SMEs

4.ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligence Organization) ที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่า สามารถปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถที่มีเอกลักษณ์ในการแข่งขันและสร้างคุณค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า 

ซึ่ง วว. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำแผนวิสาหกิจ พ.ศ. 2566-2570 ที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการพัฒนา BCG มูลค่าสูง การส่งเสริม SMEs  ภาคอุตสาหกรรม การวิจัยพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป

ผศ.ดร.วีรชัย  อาจหาญ  ผู้ว่าการ วว. กล่าวแสดงวิสัยทัศน์แนวทางการขับเคลื่อน วว. ในช่วง ปี 2568-2571 ภายใต้บริบทการแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พรบ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่) พ.ศ…. ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ว่า  วว. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570  ที่กำหนดให้ วว. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ SMEs ร่วมกับรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) ภายใต้การพัฒนาความยั่งยืนตามกรอบ ESG  Framework ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลที่ดี (Governance)  โดย วว. ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม SME และชุมชนผ่านระบบนิเวศ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน

ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า  วว. มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานองค์กร ประกอบด้วย  4  กลยุทธ์หลัก  (S – I -E – N)  ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1   S : Science Technology and Innovation  เร่งสร้างผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพี่อตอบโจทย์ประเทศ  ในขอบข่ายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 4 กลุ่ม  ( 1.เกษตรและอาหาร  2.สุขภาพและการแพทย์   3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ  4.ยานยนต์สมัยใหม่) และครอบคลุม 10 ด้าน (1.นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่  2.นวัตกรรมอาหาร 3.นวัตกรรมพืชสมุนไพร 4.การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เชิงอุตสาหกรรม  5.เซลล์บำบัด  6.นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน  7.นวัตกรรมเศรษฐกิจสีเขียว  8.นวัตกรรมพลังงานสะอาด  9.เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และ 10.เทคโนโลยีระบบอัดประจุไฟฟ้าและระบบควบคุม)

กลยุทธที่ 2    I : Infrastructure   การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ดังนี้  1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STI)  ได้แก่ สถานที่ผลิตยาหมวดชีววัตถุ (ATMPs, Cell Therapy)  ที่ได้รับการรับรองจาก อย.  และ Stem Cell Plant  มาตรฐาน PIC/S GMP ,Stem Cell  Bank  ISO IEC  20378 กำลังผลิต 1,200,000 เซลล์/ปี โดยจะสร้างเสร็จในปี 2568 ใช้ระบบบริหารจัดการโดย Contract Development and Manufacturing Organization (CDMO)  2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (NQI)  เพื่อรองรับอุตสาหกรรม  EV ทั้งการทดสอบ (Testing) และการตรวจสอบ (Inspection)  และ 3.การยกระดับโรงงานต้นแบบ เพื่อให้บริการทดลองผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรม

กลยุทธ์ที่ 3   E : Ecosystem  เสริมสร้างผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม ด้วยวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ได้แก่  1.พัฒนาเทคโนธานีให้เป็น “นิคมวิจัยสำหรับเอกชน”  และ 2. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับธุรกิจนวัตกรรม เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงพาณิชย์ สังคมและสาธารณประโยชน์

กลยุทธ์ที่ 4   N : Network   สร้างเครือข่ายตอบโจทย์เชิงพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยครอบคลุม 1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และ 2.การพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 5 ภาค ผ่านความเชี่ยวชาญของเครือข่ายพันธมิตรและ วว.

(ร่าง) พรบ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ฉบับที่) พ.ศ…. มีสาระสำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบันให้สามารถดำเนินธุรกิจ ลงทุนหรือร่วมลงทุน และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้  ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจาก พรบ. ผ่านการดำเนินงานของ วว. ได้แก่ 1) ลดการพึ่งพาเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล ในการดำเนินกิจการหรือการลงทุนโครงการวิจัยนวัตกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วทน. 2) ทำให้งานวิจัยที่มีคุณภาพสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีภาคเอกชนร่วมรับความเสี่ยงในการลงทุน  3) สามารถสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม จากการที่ผู้ประกอบการร่วมทุนกับ วว. เป็นการพัฒนาสร้างผู้ประกอบการใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และ 4) สามารถพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้สอดคล้องนโยบายรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม” สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ  โดย “4  กลยุทธ์ : S-I-E-N” จะเป็นธงการดำเนินงานในกรอบระยะเวลา 4  ปี  ซึ่ง วว. พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

วว. พร้อมให้บริการ วทน. เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร. 02-577-9000 โทรสาร 02-577-9009 หรือที่ระบบบริการลูกค้า วว. JUMP

Exit mobile version