Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ส่อง 4 มาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งและลูกจ้างได้รับผลกระทบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เร่งสำรวจสถานประกอบกิจการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้และให้ความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ทุกฝ่ายกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและฟื้นฟูกิจการได้โดยเร็ว โดยมีมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ดังนี้

อ่านเพิ่มเติม >> How To รับเงินเยียวยาแผ่นดินไหว

1. สถานประกอบกิจการได้รับความเสียหายจนต้องปิดกิจการหรือมีความจำเป็นในการเลิกจ้างลูกจ้าง จะต้องจ่ายค่าจ้างถึงวันทำงานวันสุดท้าย หรือวันปิดกิจการและจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามอายุงาน รวมถึงค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากรณีไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า

2. กรณีที่ไม่ปิดกิจการแต่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้าง หากลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิในกรณีดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานได้ และหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ลูกจ้างยังสามารถยื่นขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

3. กสร. ยังได้จัดเตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือนายจ้างหรือสถานประกอบกิจการ ดังนี้

3.1 สถานประกอบกิจการที่ต้องการปรับปรุงความปลอดภัยในการทำงานภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น บริการตรวจสอบระบบไฟฟ้า เครื่องจักร และปั้นจั่น

3.2 บริการวงเงินกู้จากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ โดยไม่จำกัดวงเงินและอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ต่อปี พร้อมระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี สอบถามโทร 0 2448 9128-9 ต่อ 801-808

4. มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างในสถานประกอบกิจการที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ สามารถขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานได้ในวงเงิน 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และมีระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 2660 2180 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 สายด่วน 1546 

ขอบคุณข้อมูล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

Exit mobile version