Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

มาทำความรู้จักกับ “จุลินทรีย์ BioD I วว.” ที่ย่อยสลายตอซังข้าวเพื่อลดการเผา ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

วว. ร่วมแชร์การใช้ประโยชน์งานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีนำเสนอ “จุลินทรีย์ BioD I วว.” ย่อยสลายตอซังข้าว   ลดการเผา/การปล่อยก๊าซเรือนกระจก  นำไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายศุภชัย ใจสมุทร  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พื้นที่จังหวัดปทุมธานี  เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสถาบันการศึกษา อว. ส่วนหน้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ผู้ประกอบการ  และหน่วยงานภาคเครือข่าย  เกี่ยวกับประเด็นการใช้ประโยชน์ ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้า ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ด้วย อววน. ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 

        โอกาสนี้  ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  มอบหมาย ดร.อัญชนา  พัฒนสุพงษ์  ผอ.ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ในสังกัดศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติอของวัสดุ  ดร.ปริยะดา  วิสุทธิแพทย์  ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร  นางสาวปัทมา  ลิ่วเลิศมงคล  ผอ.กองประชาสัมพันธ์ และคณะนักวิจัย บุคลากร วว. เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมนำเสนอผลงาน “จุลินทรีย์ BioD I วว.” ย่อยสลายตอซังข้าว   ช่วยลดการเผา  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  นำไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ  

  โดย “จุลินทรีย์ BioD I วว.”  จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ตอซังข้าวนิ่ม ไถกลบได้ง่าย และไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ซึ่งมีการนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี  และวว. ได้ขยายผลเป็นโครงการบริการวิจัยให้แก่บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการจัดสร้างชุดบ่มเลี้ยงฯ จำนวน 15 ชุด เพื่อติดตั้งในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดปทุมธานีทั้ง 7 อำเภอ

        ได้แก่  1.ศูนย์ข้าวชุมชน หมู่ 1 ต.บึงบา อ.หนองเสือ 2.ข้าวกล้อง ต.สวนพริกไทย อ.เมือง 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว 4.เกษตรใบเขียว ต.บึงคอไห อ.ลำลูกกา  5.นาแปลงใหญ่ข้าวคลองสี่ อ.คลองหลวง  6.ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงบ้านสวนพันธุ์ผัก ต.คลองควาย อ.สามโคกและ 7.กลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี  สำหรับผลิตหัวเชื้อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปขยายต่อเพื่อใช้จัดการตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวทดแทนการเผา

ซึ่งสามารถรองรับการทำนาปรังได้ไม่ต่ำกว่า 168,000 ไร่ต่อปี รวมถึงมีการจัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติวิธีการขยายหัวเชื้อ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้เองในพื้นที่ โดยเกษตรกรที่ได้รับการฝึกอบรมฯ กว่า 840 คน ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการเป็นการกระจายองค์ความรู้และแนวทางการใช้ประโยชน์ไปสู่ชุมชนได้ทั่วถึง ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการเกษตรสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาตอซังข้าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

         สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติอของวัสดุ วว. ติดต่อได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”

Exit mobile version