โรคอ้วนกลายเป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่ทั่วโลกต้องเร่งแก้ไข จากข้อมูลของสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ปี พ.ศ. 2563 พบว่าผู้คนราว 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 7 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคอ้วน ขณะที่รายงาน World Health Statistics ค.ศ. 2023 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า 39% ของผู้ใหญ่ หรือ 1.9 พันล้านคนมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปี พ.ศ. 2566 จากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยที่มีน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 48.35% สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการจัดการปัญหาโรคอ้วนอย่างจริงจัง

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ร่วมกับ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาโรคอ้วนแบบองค์รวม ในหลักสูตรการฝึกอบรม “แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน หรือ HCP Obesity Curriculum Comprehensive Module” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งการดูแลป้องกัน และการรักษาที่ยั่งยืน โดยสหสาขาวิชาชีพ โดยบนเวทีมีแพทย์ทั้งหมด 6 คนขึ้นพูดให้ความรู้ นำโดย
- นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.พญ.อรภา สุธีโรจน์ตระกูล กุมารแพทย์อนุสาขาโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รศ.ดร.นพ.วรุตม์ อุ่นจิตสกุล สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สรุปโดยรวมได้ว่า นโยบายสาธารณสุข มุ่งเป้าไปที่การลดการเจ็บป่วยจาก NCD และการควบคุมโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะแรก โดยการป้องกันและรักษาโรคอ้วน จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคเรื้อรัง รวมถึงโรคมะเร็ง ซึ่งการจัดการน้ำหนักไม่เพียงแค่เรื่องรูปร่างแต่ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงอีกด้วย แพทย์เองควรวินิจฉัยและติดตามผลของเคสอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโรคอ้วนมีปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการ พันธุกรรม และสภาพจิตใจ ซึ่งการรักษาจะต้องมีการปรับแนวทางให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล จะรวมทั้งบทบาทของจิตแพทย์ในการรักษาโรคอ้วนว่า ที่ใช้ความคิดและพฤติกรรมบำบัด หรือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ในการรักษาผู้ป่วยจึงมีความสำคัญ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาความคิด เช่น ‘กินแล้วหายเครียด’ ‘ชีวิตคงไม่มีทางผอม’ หรือปัญหาทางพฤติกรรม เช่น ‘ชอบทานน้ำหวาน’ การใช้ CBT จะช่วยให้ ผู้ป่วยตระหนักถึงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคอ้วน พร้อมทั้งช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการ กินไปสู่ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังที่มีความซับซ้อนและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายด้าน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือสุขภาพจิต การดูแลจึงต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมแพทย์จะร่วมกำหนดเป้าหมายกับผู้ป่วย เพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งโรคอ้วน เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวายและอัมพฤกษ์ อัมพาต ถ้าเราลดน้ำหนัก 15% ของน้ำหนักตัว จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้และยังช่วยปรับปรุงสุขภาพโดยรวมให้ดีขึ้น โดยสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยมีความชุกของโรคอ้วนในเด็กสูงถึง 10-15% เป็นตัวเลขที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก เราจึงต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโภชนาการของเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ