ทวี สอดส่อง หรือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มีชื่อเล่นว่า ฟิล์ม (บิ๊กวี) เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2502 ปัจจุบันอายุ 65 ปี ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านท่าจันทร์ ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รุ่นที่ 37 และปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทวี สอดส่อง เข้ารับราชการตำรวจเป็นรองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี จนกระทั่งเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม และในปี พ.ศ. 2547 ได้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
จนในปี พ.ศ. 2551 ทวี สอดส่อง ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทน สุนัย มโนมัยอุดม ต่อมาย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2554 ดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2557 จึงถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และลาออกในปี 2561
แต่ในปี 2561 ทวี สอดส่อง เข้าร่วมกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ โดยเขารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ของพรรคประชาชาติ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
กระทั่ง ทวี สอดส่อง ได้รับการแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน โดยเป็น 1 ใน 3 อดีตข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าว (อีก 2 คน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ล่าสุด วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมปรึกษาคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกร้องที่ 1 และพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 8/2568)
สมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับกรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องเพิ่มเติมของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 พร้อมเอกสารประกอบ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่
ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่และอำนาจในการสั่งและปฏิบัติราชการในฐานะผู้บังคับบัญชาข้าราชการกระทรวงยุติธรรมอันรวมไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามคำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 มีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เฉพาะในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรองประธานกรรมการคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ขอบคุณภาพ Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง
ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย, ไทยรัฐออนไลน์