Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

โรคที่มากับหน้าฝน กรมการแพทย์เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน ลดความเสี่ยงไข้หวัดช่วงเปิดเทอม

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าวันที่ 15 พฤษภาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โรคที่มากับหน้าฝน ส่วนมากมักเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งทำให้มีหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อหรือปอดบวม รวมถึงโรคมือเท้าปากและโรคไข้เลือดออกที่มีการระบาดในช่วงหน้าฝนนี้เช่นกัน

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จามหรือพูดในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จากนั้นใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก อาการโดยทั่วไปมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด แต่อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวมาก อ่อนเพลียมาก เจ็บคอรุนแรง ไอมาก

โรคไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) สาเหตุเกิดจากไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม หรือการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง มีอาการ ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่ออาการโรคมีมากขึ้นจะทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก

โรคมือเท้าปาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human enteroviruses ติดต่อผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มน้ำใส หรือผื่นบริเวณผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค อาการจะเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ เบื่ออาหาร งอแง ต่อมาจะมีแผลในปากและลำคอ มีผื่นลักษณะตุ่มน้ำ ใส หรือจุดนูนแดง บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือ บริเวณก้น

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Virus) การติดต่อโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการไข้สูงลอยเฉียบพลัน ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสียโดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาจมีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง หน้าแดง ตัวแดง

นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เด็กป่วยบ่อย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ การป้องกันโรคที่มาในหน้าฝนนั้น ทำได้ดังนี้

  1. โรคไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก หรือปาก เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ตามช่องทางเหล่านี้ และการสวมใส่หน้ากากอนามัย
  2. โรคไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ป้องกันโดยการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กที่มีอาการป่วยออกจากเด็กที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโรคมือ เท้า ปาก และหลีกเลี่ยงการนำบุตรหลานไปในสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับโรค ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบบ้านเพื่อลดปัญหาโรคไข้เลือดออกและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกก็สามารถช่วยป้องกันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูฝนนี้แนะนำผู้ปกครองดูแลสุขอนามัยของลูกหลานอย่างใกล้ชิดเพื่อลดอาการป่วยหรือหากมีอาการป่วยให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยในการรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1031947102454687&id=100069182200543&rdid=2ROqwq70mV5ljxUb#

Exit mobile version