มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “มาตรการฟื้นฟูฯ” ที่ภาครัฐเตรียมจะนำออกมาใช้ คือสิ่งที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันได้ ข่าวมีค่า ชวนมาทำความรู้จักกับมาตรการดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น
ที่มา
คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อร่าง “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ)”
ทำไมถึงออก “มาตรการฟื้นฟูฯ”
ซึ่งมีที่มาจากการที่ความช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้นของภาครัฐแก่ลูกหนี้ ผ่าน “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan)” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
เป้าหมายของ “มาตรการฟื้นฟูฯ”
มาตรการฟื้นฟูฯ ตั้งเป้าช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้สามารถประคับประคองกิจการต่อไปได้ รวมทั้งช่วยพยุงระดับการจ้างงาน และสร้างโอกาสในการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ภายใต้กระบวนการที่เกิดจากความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน ที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ความเสี่ยงในปัจจุบัน มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้รองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง และครอบคลุมการแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ในแต่ละธุรกิจที่มีความจำเป็นต่างกัน
ซอฟต์โลน – พักหนี้
มาตรการฟื้นฟูฯ ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ
1. สินเชื่อฟื้นฟูหรือซอฟต์โลน (มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ)
- ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ
- ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและลูกหนี้รายใหม่
- ปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น
- ขยายระยะผ่อนชำระให้ยาวขึ้น
- กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ
2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้)
- หยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญาที่กำหนด
- ผู้ประกอบการสามารถขอเช่าทรัพย์มาทำธุรกิจได้
- รักษาโอกาสให้ผู้ประกอบการไม่ถูกกราคาบังคับขายทรัพย์
- สามารถกลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
งบประมาณของ “มาตรการฟื้นฟูฯ”
มาตรการฟื้นฟูฯ กำหนดวงเงินไว้รวม 350,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และสามารถต่ออายุได้อีก 1 ปีหากมีเหตุจำเป็น
“มาตรการฟื้นฟูฯ” เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาตอบรับในแง่บวก ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ แต่จากตัวเลขของบประมาณที่ใช้ กับการที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีความผันผวนสูง ข่าวมีค่า เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องติดตามว่า เมื่อมาตรการถูกนำมาใช้แล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
ที่มา :
- ธนาคารแห่งประเทศไทย : www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/JointPress_COVID19.aspx
- สยามรัฐ : https://siamrath.co.th/n/229694
- ฐานเศรษฐกิจ : www.thansettakij.com/content/money_market/473228