ถาม : ติดตามข่าวเรื่อง “คราฟท์เบียร์” ของคนไทยที่ออกไปผลิตในต่างประเทศแล้วได้รับรางวัล อยากทราบว่าทำไมคราฟท์เบียร์ถึงผลิตในประเทศไม่ได้?
ตอบ : ตาม “กฎกระทรวง ว่าด้วยการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560” ของกระทรวงการคลัง มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเบียร์ ดังนี้
- ต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
- การผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brew Pub) ต้องมีขนาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี และไม่เกิน 1,000,000 ลิตรต่อปี (ประมาณไม่ต่ำกว่า 300,00 ขวดต่อปี และไม่เกิน 3,000,000 ขวดต่อปี)
- การผลิตเพื่อขายนอกสถานที่ผลิต ต้องมีขนาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี (ประมาณไม่ต่ำกว่า 33 ล้านขวดต่อปี)
จากกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก จะตั้งบริษัทหรือตั้งโรงงานผลิตเบียร์ของตัวเอง รวมทั้งผลิตเบียร์ให้ได้ปริมาณตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ในปัจจุบัน ผู้ผลิตจึงใช้วิธีจ้างโรงงานในต่างประเทศผลิต แล้วจำหน่ายในประเทศในรูปแบบของเบียร์นำเข้าแทน
ที่มา :
- ราชกิจจานุเบกษา : www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/095/59.PDF
- เว็บไซต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) : https://tdri.or.th/2019/04/th-craft-beer-industry/