วันที่ 1 เมษายน เป็นที่รู้จักกันดีในนามวัน April Fools’ Day ซึ่งเป็นวันที่ผู้คนในหลายๆ ที่ทั่วโลกจะเล่นมุกตลกหรือเรื่องหลอกลวงต่อกัน ก่อนที่จะมาเฉลยในภายหลังว่าไม่ใช่เรื่องจริง ว่าแต่ทำไมถึงต้อง “โกหก” กันในวันที่ 1 เมษายน ข่าวมีค่า หาคำตอบมานำเสนอต่อจากนี้แล้ว
หลายคนคงพอจะรู้บ้างแล้วว่า ในหลายๆ พื้นที่ของโลก วันที่ 1 เมษายนเป็นวัน April Fools’ Day หรือวัน “เมษาหน้าโง่” ซึ่งเป็นวันที่ผู้คนจะเล่นมุกตลก หรือบอกเรื่องหลอกลวงต่อคนอื่นๆ ก่อนที่จะเฉลยว่าเรื่องงที่บอกไปนั้นเป็นการโกหกในวันต่อมา
ว่าแต่ทำไมคนเราต้อโกหกกนในวันที่ 1 เมษายน?
ล้อคนรู้ช้า
มีการสันนิษฐานถึงที่มาของวันเมษาหน้าโง่เอาไว้หลายอย่าง โดยนักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่า April Fools’ Day มีที่มาจากประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1582 เมื่อมีการเปลี่ยนการใช้ปฏิทินจาก “ปฏิทินจูเลียน” เป็น “ปฏิทินกริกอเรียน” ซึ่งทำให้วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม
แน่นอนว่าในอดีตที่ข่าวสารต่างๆ ยังไม่แพร่หลายได้อย่างรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงปฏิทินแล้ว และฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนอยู่ ทำให้คนที่รู้ว่ามีการเปลี่ยนปฏิทินที่ใช้ไปแล้ว นำเอาเรื่องนี้มาล้อเลียนคนที่ไม่รู้ และทำให้วันที่ 1 เมษายนกลายเป็นวันทีผู้คนมาล้อเลียนกันในเวลาต่อมา
จากเทศกาลสู่วันโกหก
นอกจากนี้ยังมีนักประวัติศาสตร์ที่เห็นว่า April Fools’ Day น่าจะพัฒนามาจาก “เทศกาลฮิลาเรีย (Hilaria)” ซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพธิดาไซเบล (Cybele) ของชาวโรมันในยุคโบราณ โดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม และในช่วงเทศกาล ผู้คนจะแต่งตัวให้ดูตลกเฮฮา และมีการะเล่นต่างๆ มากมาย ซึ่งพอนานวันไป เทศกาลดังกล่าวก็ค่อยๆ แพร่หลายไปสู่ดินแดนอื่นๆ และปรับเปลี่ยนจนกลายมาเป็นวัน April Fools’ Day นั่นเอง
หลอกได้ไม่โกรธ
ในปัจจุบัน April Fools’ Day หรือวันเมษาหน้าโง่ เป็นวันที่ผู้คนในหลายๆพื้นที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี และรู้ว่าในวันดังกล่าว เราสามารถโกหกหรือบอกเรื่องหลอกลวงกับคนอื่นๆ หรือกลั่นแกล้งคนอื่นแบบเล็กๆ น้อยๆ ได้โดยที่อีกฝ่ายไม่โกรธ อย่างเช่น อาจจะบอกกับคนอื่นๆ ว่าเราถูกหวย หรืออาจจะแกล้งเพื่อนด้วยการเอาป้ายที่เขียนว่า “เตะฉัน” ไปแปะหลังเพื่อน หรือเพียงแค่ตะโกนว่า April Fools’ ใส่คนอื่นก็ได้เช่นกัน โดยที่คนอื่นๆ ก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ April Fools’ Day ยังปรากฏในสื่อต่างๆ ด้วย โดยรายการโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงโกออนไลน์ในยุคปัจจุบัน มักจะมีการประกาศข่าวหรือเรื่องราวที่หวือหวาน่าสนใจในวันที่ 1 เมษายน ก่อนที่จะมาเฉลยในวันต่อมาว่าเรื่องที่ประกาศไปเมื่อวานเป็นแค่เรื่องโกหกที่เอามาล้อกันเล่นเท่านั้น
เล่นได้แต่อย่าผิดกฎหมาย
สำหรับในเมืองไทย ก็มีการรับเอาวัฒนธรรมนี้เข้ามาเช่นเดียวกัน โดยผู้คนมากมายรับทราบและเข้าใจว่าวันที่ 1 เมษายนเป็นวันอะไร รวมทั้งมีการโกหกหลอกลวงกันในวันนี้เช่นเดียวกับในที่อื่นๆ อีกหลายที่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกมาเตือนประชาชนแล้วว่า หากอยากจะสนุกในวันเมษาหน้าโง่ด้วยการโกหกหรือหลอกลวงกัน ก็ขอให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และไม่ละเมิดกฎหมาย เพราะหากเป็นการโพสต์หรือแชร์ข่าวในโซเชียลมีเดียที่ไม่เป็นความจริง อาจจะมีโทษจำคุกและเสียค่าปรับตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ได้
ที่มา :
- History.com : www.history.com/topics/holidays/april-fools-day
- Facebook : Timeless History – ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา : www.facebook.com/Timelesshistoryth/posts/788594671575994
- กรุงเทพธุรกิจ : www.bangkokbiznews.com/news/detail/873762
- Sanook.com : www.sanook.com/news/8360406/