การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลผลกระทบต่อการทำธุรกิจในหลายด้าน ข่าวมีค่า ติดตามผลการสำรวจจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่สำรวจปัญหาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนต้องเจอ รวมทั้งแนวทางการปรับตัวที่ผู้ประกอบการเลือกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ธุรกิจยังไปต่อได้
สำรวจ “เอสเอ็มอี” ยุคโควิด
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) ทำการสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจทั่วประเทศ 1,494 ราย แบ่งออกเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 73% และวิสาหกิจชุมชน 27% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยมี “ทีมกูรูดีพร้อม” ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นผู้ทำการสำรวจข้อมูล
เป้าหมายในการสำรวจ
เพื่อหาข้อมูลสำหรับการเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดเดิมของโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จะให้กับเอสเอ็มอีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ปัญหาของ “เอสเอ็มอี”
จากผลการสำรวจพบว่า 7 อันดับผลกระทบที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาสูงสุด คือ
- กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ส่งผลให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง 84.87%
- ปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากมีการแข่งขันสูงผ่านกลยุทธ์ด้านโปรโมชั่นเพื่อระบายสินค้าคงคลัง 66.53%
- ขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ ขาดเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากรายได้ลดลง เก็บเงินจากลูกค้าได้ยากขึ้น 63.05%
- วัตถุดิบขาดแคลน มีราคาสูงขึ้น และผู้ผลิตบางรายปิดกิจการ 30.25%
- ระบบโลจิสติกส์ที่มีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น ใช้ระยะเวลานานขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น 26.57%
- ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว 24.16%
- การผลิตไม่คุ้มทุน ต้อง ลด / ชะลอ / หยุดการผลิต 18.74%
ปรับตัวสู้วิกฤต
ด้านผลสำรวจการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการใน 7 อันดับแรก ประกอบด้วย
- ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และขยายฐานลูกค้าไปยังหน่วยงานภาครัฐ 71.55%
- ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดการใช้พลังงานในสำนักงาน ลดปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบ และเลือกวัตถุดิบที่ราคาถูกลง และมีอายุเก็บรักษาได้ยาวนาน 53.75%
- พัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น และปรับขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อลดค่าขนส่ง 50.47%
- ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการภาคการผลิต และระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อวางแผนการผลิตที่แม่นยำ 45.65%
- หาแหล่งเงินทุนที่ให้สินเชื่อในระยะที่สามารถยืดหยุ่นได้ และมีดอกเบี้ยต่ำ 37.48%
- ปรับลดไลน์ผลิต ลดจำนวนชั่วโมงงาน ให้พนักงาน Work From Home และพัฒนาทักษะพนักงานเพิ่มเติม 32.93%
- ปรับแผนการขนส่ง หาพันธมิตรผู้ประกอบการเพื่อแชร์ค่าบริการ และดำเนินการขนส่งเอง 19.88%
เยียวยาเอสเอ็มอีด้วย “สติ (STI)”
“สติ (STI)” เป็นมาตรการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้นำข้อมูลจากผลสำรวจข้างต้น มาประกอบการวางแผน จนออกมาเป็นมาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการ ที่จะใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่
- มาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ
- โครงการการเตรียมความพร้อมและเพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อเพื่อ SMEs ในยุค New Normal โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีทักษะการบริหารการเงินที่ดี หรือ Financial Literacy
- โครงการส่งเสริมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ เพิ่มโอกาสการได้รับอนุมัติสินเชื่อ และลดความเสี่ยงจากหนี้สูญ
- มาตรการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ อาทิ
- โครงการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม
- โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการบริหารจัดการแรงงานฝ่าวิกฤตแรงงานต่างด้าว โดยส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยี AI เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
- มาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการตลาด อาทิ
- โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ
สิ่งที่ ข่าวมีค่า เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เอสเอ็มอีต้องเจอ รวมถึงกระบวนการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ สามารถนำไปศึกษาและดูเป็นแนวทางเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจจะต้องเจอในอนาคต
ที่มา :
- เว็บไซต์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม : www.dip.go.th/th/category/activity-news/2021-04-01-16-10-04
- ผู้จัดการ : https://mgronline.com/smes/detail/9640000031615
- ฐานเศรษฐกิจ : www.thansettakij.com/content/Macro_econ/474337