ข่าวมีค่า นำแนวปฏิบัติของในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศ ที่ประกาศโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมาเสนอ เพื่อให้ผู้ที่สนใจทราบถึงมาตรการที่ต้องปฏิบัติระหว่างการโดยสารเครื่องบินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ที่มา
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้ออกประกาศระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564
ทำไมถึงต้องออกระเบียบฉบับนี้
เพื่อยกระดับการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มรุนแรง และมีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่
ใครบ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้
ทุกสายการบิน ลูกเรือ และผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด
สรุป 18 มาตรการสำหรับสายการบิน
- หากท่าอากาศยานต้นทางไม่ได้ตรวจคัดกรองบุคคล ให้ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดก่อนขึ้นเครื่อง หากอุณหภูมิสูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสาร
- รักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง โดยรวมถึงขั้นตอนการลำเลียงผู้โดยสารขึ้นและลงจากเครื่องบิน
- ให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในเครื่องบิน หากผู้โดยสารไม่มีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่องแก่ผู้โดยสารคนนั้น
- งดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมาด้วย
- งดให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่นพับโฆษณาสำหรับผู้โดยสารในระหว่างการบิน ยกเว้นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
- งดการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษีอากรในระหว่างการบิน
- จัดให้มีแอลกอฮอล์ 70% เพื่อใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอให้กับผู้โดยสารและพนักงาน
- ให้นักบินสวมหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ให้ลูกเรือสวมหน้ากากอนามัยอนามัยและถุงมือยาง (Disposable Medical Rubber Gloves) ตลอดระยะเวลาการบิน
- ทำความสะอาดชุดอุปกรณ์ในห้องโดยสารด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังจากการใช้งานของผู้โดยสาร หรือก่อนส่งต่อให้ลูกเรือที่จะปฏิบัติหน้าที่
- ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในเครื่องบิน (Interphone) เป็นหลัก กับเข้าและออกห้องนักบินเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
- เที่ยวบินที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 90 นาที ให้สำรองที่นั่งสองแถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วย
- กรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 .ให้ดำเนินการดังนี้
- แยกกักผู้ที่มีอาการป่วยให้นั่งที่นั่งซึ่งสำรองไว้ตามข้อ 11
- กรณีมีห้องน้ำมากกว่าหนึ่งห้อง ให้กันห้องน้ำที่อยู่ใกล้ที่นั่งซึ่งสำรองไว้ตามข้อ 11 ไว้เฉพาะผู้ป่วย
- พิจารณากันห้องน้ำห้องหนึ่งไว้สำหรับลูกเรือใช้โดยเฉพาะ
- มอบหมายให้ลูกเรือคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แยกกักตามข้อ 11 และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
- ให้นักบินแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยต่อพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทางทราบ
- กำหนดให้รถลำเลียงผู้โดยสารไป – กลับระหว่างอาคารผู้โดยสารและเครื่องบิน บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 70 ของความจุของยานพาหนะนั้นๆ
- หลังเสร็จสิ้นการบินทุกครั้ง ให้ทำการฆ่าเชื้อโรคในห้องโดยสารตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- ระหว่างที่เครื่องบินจอดพักหรือจอดบำรุงรักษา ให้ใช้แหล่งพลังงานสำรองแทนการใช้อากาศจากสะพานเทียบเครื่องบิน และหลังจากถึงสถานีปลายทางแล้ว ควรเปิดประตูระบายอากาศด้วย
- ต้องเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง หรือ High Efficiency Particulate Air (HEPA) Filter ตามกำหนดเวลาที่ระบุในคู่มือผู้ผลิต
- หากเครื่องบินมีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระบบทำความเย็นและปรับสมดุลความดัน และระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสาร ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด
- พิจารณานำเครื่องมือให้บริการตนเองประเภทต่างๆ เช่น เครื่องออกบัตรโดยสารและป้ายติดสัมภาระอัตโนมัติ (Kiosk) เครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ (Self-Bag Drop) เป็นต้น มาใช้ทุกสนามบิน เพื่อลดการติดต่อสัมผัส
ระยะเวลาดำเนินการ
ให้บังคับใช้ระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุด หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม
ข่าวมีค่า มองว่ามาตรการต่างๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับสายการบินในครั้งนี้ เป็นอีกความพยายามที่จะช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็หวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้การโดยสารเครื่องบินกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อแห่งใหม่ อันจะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ที่มา :
- เว็บไซต์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย : www.caat.or.th/th/archives/57287?fbclid=IwAR1P6iYStuZThUPWMP4iYMf1VXqXsx3bwMPhV7UhpMBx5TSFKexlcR3GW6E
- Facebook : CAAT – The Civil Aviation Authority of Thailand : www.facebook.com/caat.thailand/posts/1894832567346103
- ประชาชาติธุรกิจ : www.prachachat.net/tourism/news-647420
- ฐานเศรษฐกิจ : www.thansettakij.com/content/business/475505